นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายและกํากับการบริหารหนี้สาธารณะ ที่มีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เป็นประธาน เพื่อปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2561 โดยสาระสำคัญจะมีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณกลางปี 2561 เพิ่มเติมอีก 1 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ จะมีการปรับแผนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพิ่มขึ้นอีก 8,000 ล้านบาท เพื่อใช้ก่อสร้างเส้นทางรถไฟรางคู่ 5 เส้นทาง ซึ่งการลงทุนดังกล่าวเป็นผลดีต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนการบริหารหนี้ใหม่ภายใน 2 สัปดาห์

สำหรับแผนการบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2561 เดิม มีวงเงิน 1.124 ล้านล้านบาท เป็นการกู้เงินใหม่ 6.07 แสนล้านบาท เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 4.5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โครงการระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน และ โครงการรถไฟทางคู่ของรฟท.

สำหรับการบริหารนี้ส่วนที่เหลือเป็นการกู้เงินปรับโครงสร้างหนี้เดิมจำนวน 5.16 แสนล้านบาท โดย สบน. เห็นควรระดมทุนจากภายในประเทศโดยการกู้เงินในรูปแบบพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้อื่นๆ เป็นหลัก โดยมีการกู้เงินสกุลต่างประเทศจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศบางส่วนสำหรับโครงการที่มีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ

นายประภาศ กล่าวว่า การบริหารหนี้สาธารณะ จะเน้นการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย เพื่อต้นทุนและความเสี่ยง โดยในปี 2561 สบน. จะเร่งดำเนินการปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งชำระคืนหนี้ต่างประเทศที่มีต้นทุนสูงกว่าอัตราตลาดในปัจจุบัน โดยเปลี่ยนมาใช้เงินกู้ในประเทศทดแทน (Refinancing) ซึ่งได้มีการดำเนินการคืนเงินกู้ขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) วงเงิน 3.65 หมื่นล้านบาท มากู้ภายในประเทศ แม้ว่ามีต้นทุนดอกเบี้ยสูงกว่า แต่ไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

นอกจากนี้ คลังยังได้ทำการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน หรือ สวอป เงินกู้ของไจก้า ที่ให้กู้กับ รฟม. 882 ล้านบาท และร.ฟ.ท. 1.1 หมื่นล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 0.4% ต่อปี ทำให้เงินกู้ต่างประเทศส่วนนี้ไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอีกต่อไป

“การบริหารจัดการเงินสดจะทำในเชิงรุกมากขึ้น เพื่อให้ระดับเงินคงคลังอยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่น้อยหรือมากเกินไป หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เห็นชอบแก้ไขกฎหมายหนี้สาธารณะ และกฎหมายเงินคงคลัง เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะทำให้คลังกู้เงินระยะสั้นเพื่อบริหารเงินคงคลังไม่เกิน 3% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย และยังให้สามารถขยายเวลาการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลให้สอดคล้องกับการใช้เงินจริง ไม่ต้องเร่งกู้ก่อนสิ้นปีงบประมาณทั้งที่โครงการยังไม่มีความพร้อมจะใช้เงิน”นายประภาศ กล่าว

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สบน. เปิดเผยว่า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2560 มีจำนวน 6.37 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 41.76% ของจีดีพีแบ่งเป็นหนี้รัฐบาล 5.02 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 9.4 แสนล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน รัฐบาลค้ำประกัน 3.93 แสนล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 1.06 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 4.59 หมื่นล้านบาท








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน