เกรียงไกร โอดต้นทุนไทยสูง หวั่นแพ้เวียดนามถาวร ยกค่าไฟจ่ายแค่ 2.50 บ./หน่วย ในงาน Thailand : New Episode บทใหม่ประเทศ 2023

เมื่อวันที่ 25 มกราคม เวลา 09.45 น. ที่ ห้องอินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ) เครือมติชน จัดเสวนาใหญ่ก้าวสู่ปีที่ 46 “Thailand : New Episode บทใหม่ประเทศ 2023” โดย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเสวนา ในหัวข้อ New Episode เศรษฐกิจ-อุตสาหกรรมไทย ว่า

สำหรับ New Episode ของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ปี 2566 นั้น สิ่งที่ไทยได้รับจากสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกคือ 1.ต้นทุนการผลิตที่ยังคงสูงอยู่ ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (เอฟดีไอ) ในภูมิภาคอาเซียนนั้น ตัวเลขชัดเจนว่า อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ แม้ประชากรเพียง 5.5 ล้านคน แต่จะได้รับเอฟดีไอประมาณครึ่งหนึ่งของเม็ดเงินทั้งหมดที่ไหลเข้าทั้งภูมิภาคมาตลอดสิบปีที่ผ่านมา ส่วนอีกครึ่งก็แบ่งกัน 9 ประเทศ

ใน 6 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม -มิถุนายน 2565) เอง ที่หนึ่งยังคงเป็นสิงคโปร์ และที่เหนือกว่าไทย คือ มาเลเซีย ที่มีเม็ดเงินลงทุนกว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ถัดมาคือ เวียดนาม 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนไทยมีเม็ดเงินกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพราะฉะนั้นที่บอกว่ามีการลงทุนไทยกับเวียดนาม คือ 1 ต่อ 3 เป็นจริง รวมทั้งการโดยเวียดนามยังได้เปรียบกว่าไทย คือ การทำความตกลงทางการค้ากับต่างประเทศ (เอฟทีเอ) 16 ฉบับ ครอบคลุม 55 ประเทศ ในขณะที่ไทย มี เอฟทีเอ 14 ฉบับ ครอบคลุม 19 ประเทศ ทำให้เวียดนามเหนือกว่า เพราะเอฟทีเอ ครอบคลุมมากกว่าไทย 36 ประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (อียู) ที่ไทยยังไม่มีเอฟทีเอเลย

ส่วนที่สอง คือ ค่าแรงโดยเฉลี่ยของเวียดนามต่ำกว่าไทย และข้อที่สามน่ากลัวที่สุดคือ ค่าไฟฟ้า เวียดนาม ปี 2565 ยืนราคาที่ 2.88 บาทต่อหน่วย ขณะที่ไทยมีการปรับขึ้นมาตลอด ตั้งแต่ 3 บาทกว่าต่อหน่วย ปี 2565 ปรับขึ้นมาเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย และภาคธุรกิจ การได้รับของขวัญปีใหม่ เดือนมกราคม-เมษายน 2566 ปรับขึ้นเป็น 5.69 บาท ต่อหน่วย แต่ส.อ.ท. และกกร. ได้มีการไปท้วงติง และขอให้รัฐบาลทบทวนใหม่ก็มีการลดลงมาให้เหลือ 5.33 บาทต่อหน่วย

“ลองคิดดูนะครับ ค่าไฟฟ้า 2.88 บาทต่อหน่วย กับ 5.33 บาท ในอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน ที่มีลูกค้าเหมือนกัน แค่เปิดเครื่องจักร ไทยเราก็แพ้เขาแล้ว และล่าสุดมีข่าวดี ด้วยความผันผวนของค่าเงิน ซึ่งค่าเงินตอนนี้อยู่ที่ 32-33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ปรากฏค่าไฟของเวียดนามก็ลดเหลือ 2.5 บาทต่อหน่วย ขณะที่ไทยยังเป็น 5.33 บาทต่อหน่วย ผมขอถามว่า นักลงทุนที่ไหนจะมาเมืองไทย เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นเรื่องที่อยากจะฝากไปยังคนที่รับผิดชอบ เพราะเรื่องนี้จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ และทำให้ไทยเสียความสามารถในการแข่งขัน อาจจะถาวรเลยก็ได้ ถ้าไม่รีบแก้ไข” นายเกรียงไกร กล่าว

ด้านการส่งออกที่ชะลอตัว เนื่องจากเศรษฐกิจโลก และความผันผวน จากช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น อันนี้เป็นปัญหาของไทย ที่วันนี้ (25 มกราคม 2566 ) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงจะประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เพื่อไม่ให้ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยสหรัฐ กับ ไทยห่างกันเกินไป การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวช่วยเศรษฐกิจไทยได้ และมีอีกตัวที่อาจจะช่วยในปีนี้ นอกจากการท่องเที่ยวก็คือการเลือกตั้ง เพราะพอมีการเลือกตั้งทุกอย่างก็คึกคัก เม็ดเงินต่างๆก็คงสะพัดพอสมควร และไม่ใช้เป็นการอัดฉีดธรรมดา แต่ลงไปถึงรากฝอยเลย เพราะฉะนั้น 2 ตัวนี้ก็จะเป็นตัวที่ส่งเสริม ทำให้ตลาดภายในของไทย คึกคักขึ้นมา








Advertisement

จากที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพ การจัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกปี 2565 (เอเปค2022) และการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ปี 2565 หรือ ABAC 2022 หรือ สิ่งที่ทั่วโลก และสมาชิกในภูมิภาคพูดคุยกันคือ เทรนด์ ในเรื่องของความยั่งยืน (sustainability) ในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นหัวข้อใหญ่ในการประชุม รวมทั้งเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล และการช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทำอย่างไรให้อยู่รอด เพราะว่าได้รับผลกระทบหนักที่สุดในทุกวิกฤต โดยเฉพาะในเรื่องโควิด-19 เพราะฉะนั้น สิ่งที่คุยกันในที่ประชุมก็เป็นการเกาะกระแสของโลก ในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) มี 17 หัวข้อ

ส่วนไทยนั้น มียุทธศาสตร์ชาติที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไปในแนวทางเดียวกัน 2 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ประกอบด้วย 1.การเกษตรสร้างมูลค่าบีซีจี โมเดล 2.อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 3.สร้างความหลากหลายด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 4.โครงสร้างพื้นฐานเชื่อมไทย และเชื่อมโลก ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ และ 5. พัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานผู้ประกอบการยุคใหม่ (เอสเอ็มอี และ สตาร์ทอัพ) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เกี่ยวกับ ความสามารถในการแข่งขัน

และยุทธศาสตร์ที่ 5 เรื่องการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 1.สร้างเศรษฐกิจ บีซีจีโมเดล 2.สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจภาคทะเล 3.สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน บนสังคมเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ 4.พัฒนาพื้นที่เมือง ชนบท เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มุ่งเน้นความเป็นเมืองที่เติบโต 5.พัฒนาความมั่นคงทางน้ำ พลังงงาน และเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 6.ยกระดับกระบวนทัศน์ เพื่อกำหนดอนาคตของประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน