“สมคิด”ปลื้ม “ข้าว-ปาล์ม”ราคาดี สั่งยกชั้นสหกรณ์หวังเป็นกลไกเชื่อม”เกษตร-ท่องเที่ยว” ยกระดับชุมชนสร้างอำนาจต่อรองการเมือง-รัฐบาล ส่วนราคายางพารา การันตีจะไม่ให้ต่ำกว่า 50 บาท/ก.ก.

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในการเปิดประชุมสัมมนาเพื่อขับเคลื่อนงานของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในการส่งเสริมพัฒนาความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร ว่า 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยใช้การเมืองนำพาการพัฒนาประเทศ ส่งผลให้การพัฒนาภาคเกษตรไทยสูญเปล่า แต่ขณะนี้รัฐบาลเริ่มเข้ามาดูแลภาคเกษตรอย่างจริงจัง ไม่ได้ให้เกษตรกรอยู่คนเดียวหรือทำคนเดียว หลายๆอย่างเริ่มดี อาทิ ราคาข้าว มีทิศทางที่ดีขึ้น ราคาปาล์มเพิ่มขึ้นแตะ 4 บาท/กิโลกรัม(กก.) ส่วนราคายางพารายังต่ำอยู่ แต่รัฐบาลจะพยายามไม่ให้ราคาต่ำกว่า 50 บาท/กก.

ทั้งนี้การพัฒนาภาคเกษตรจากนี้ต่อไปจะใช้สหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกร เชื่อมภาคเกษตรเข้ากับภาคการท่องเที่ยว เพื่อเป็นกลไกร่วมพัฒนาชุมชน โดยใช้ข้อมูลรอบด้าน ทั้งเรื่องการผลิต การตลาด (บิ้กดาต้า) เพื่อชี้นำการเปลี่ยนแปลง หากสหกรณ์ หรือกลุ่มสหกรณ์ ไทยมีความเข้มแข็ง จะเป็นตัวกลางในการลดต้นทุน สร้างอำนาจต่อรองให้เข้มแข็ง แต่การปฏิรูปหรือยกระดับภาคเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต้องเป็นแหล่งต้นทุนราคาถูก ให้ไปคิดว่าทำอย่างไร จะลดดอกเบี้ยให้เกษตรกรให้ต่ำๆได้

“ไม่มีประเทศไหนทำการเกษตรเหมือนประเทศไทย ตัวอย่างเช่น การปลูกยาง ชาวสวนปลูกยางปริมาณมากทั่วประเทศ ทำให้ราคาตกต่ำ ขณะนี้รัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พยายามประสานเอกชน พ่อค้า เพื่อช่วยกันพยุงราคาไม่ให้ต่ำกว่า 50 บาท/กก. ซึ่งทั้งหมด คือผลพวงที่ทำการเกษตรแบบไม่สนใจตลาด แบบไม่มีข้อมูล ปลูกพืชเชิ่งเดียวตามวิถีชีวิตปกติของเกษตรกรไทย แต่จากนี้ไป เกษตรกรต้องทำการเกษตรโดยใช้ตลาดนำ เพื่อรู้ว่า ผลผลิตมีเท่าไหร่ ความต้องการมีเท่าไหร่”

นายสมคิด กล่าวว่า เป้าหมายการตลาดนำการผลิตโดยใช้กลไกของสหกรณ์ ขณะนี้มีปัญหาคือ สหกรณ์ของไทยเจ๊งไปเกินครึ่ง เรื่องนี้เตรียมสั่งการไปยังกระทวงเกษตรให้ดำเนินการเตรียมสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร เพื่อเป็นกลไกในการปฏิรูปภาคเกษตร เพื่อนำมาเสริมความเข้มแข็งชุมชน หากสหกรณ์ไม่เข้มแข็ง สถานบันเกษตรกรไม่มีพลัง พลังทางการเมืองจะเข้ามาแทรกแซง อย่างในอดีตที่นักการเมือง ใช้ภาคเกษตรใช้เกษตรกรเป็นฐานทางการเมือง หากสหกรณ์เข้มแข็ง สถาบันเกษตรกรเข้มแข็ง เมื่อการเมือง หรือรัฐบาลไม่เข้มแข็งจะอยู่ไม่ได้ด้วยพลังของเกษตรกร

ทั้งนี้ ภาคเกษตรจะมีพลัง ผู้นำเกษตรกรแข็งแรงมากๆ เกษตรรุ่นใหม่ที่มีการพัฒนา รู้จักวิธีการสร้างสินค้าดี สร้างแบรนด์สินค้าแล้วนำไปขายผ่านอีคอมเมิร์ช สร้างพลังให้ขับเคลื่อนตลาด สามารถขายสินค้าเกษตรผ่านออนไลน์ สามารถผลักดันสินเค้าเกษตรขายผ่านร้านสะดวกซื้อ และสามารถใช้อีคอมเมิร์ชกระจายสินค้าไปทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งในปีนี้อินเตอร์เน็ตมีทั่วทุกจุดในประเทศ อินเตอร์เน็ตจะเชื่อมทุกแหล่งผลิตและตลาดเข้าด้วยกัน ดังนั้นการค้าขายสินค้าเกษตรผ่านออนไลน์ เกิดขึ้นแน่ในปีนี้

อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของชุมชน หน้าที่พัฒนาประเทศคือหน้าที่ของทุกคน ทุกคนต้องสร้างความภูมิใจให้กับชุมชน ร่วมกันคิดในสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้ทำหรือพัฒนาภาคเกษตรแบบโดดเดียว จากนี้ สหกรณ์ เกษตรกรจะไม่โดดเดียว รัฐบาลจะผลักดันการท่องเที่ยวชุมชน เป็นสิ่งชัดเจน อยากให้มีการพยายามพูดคุยหารือกับชุมชน วางแผนร่วมกัน เพื่อสร้างชุมชน สร้างตลาดประชารัฐ ทั้งประเทศ คือนโยบายของรัฐบาล รัฐบาลมีเงินที่จะทำ สำคัญที่จะทำหรือไม่ ดูว่าจะทำการเชื่อภาคเกษตรกับการท่องเที่ยวชุมชน การปฏิรูปประเทศไทย ไม่ได้ปฏิรูปที่รัฐบาล มันคือการปลุกคนให้ตื่นขึ้นมา เพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง

สำหรับเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ รัฐบาลจะมีงบประมาณลงรากหญ้า ลงพัฒนาภาคเกษตร โดยงบประมาณของเกษตรที่รัฐบาลจัดสรรให้ประมาณ 35,000 ล้านบาท มหาดไทย 20,000 ล้านบาท งบประมาณกลางปีออกมา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างไซโล ยุ้งฉาง เพราะภาคกลางของไทยมีปัญหายุ้งฉางไม่พอเพียงสำหรับเก็บผลผลิต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน