นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยถึง กรณีที่ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 16 ของสหรัฐ ต้องปิดตัวลง รวมถึงกรณีที่ธนาคารซิกเนอเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) ในนิวยอร์กซึ่งถูกสั่งปิดไปเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้ผู้คนไม่สามารถเข้าถึงเงินฝากมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐได้ ว่า มีการติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยคงต้องรอฟังข้อมูลจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งทำหน้าที่ในการมอนิเตอร์เรื่องนี้ด้วย โดยที่ผ่านมา ธปท. ยืนยันมาตลอดว่าเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินไทยยังไม่มีปัญหาอะไร ยังได้รับความน่าเชื่อถืออยู่

ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์ในเบื้องต้น มองว่าประเด็นดังกล่าวน่าจะมีผลกระทบกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยเฉพาะเรื่องบรรยากาศในการลงทุน โดยเฉพาะประเด็นความเชื่อมั่นของนักลงทุนมากกว่า ส่วนรายละเอียดต่างๆ คงต้องรอทาง ธปท. อีกครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องว่าจะมีผลกระทบอะไรกับสถาบันการเงินของไทยหรือไม่

ส่วนตลาดพันธบัตรตอนนี้ก็เป็นไปตามภาวะตลาด โดยต้องยอมรับว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับ 2 ธนาคารต้องมีผลกระทบกับความเชื่อมั่น ทำให้นักลงทุนเกิดภาวะตกใจอยู่แล้ว ก็สะท้อนจากดัชนีตลาดหุ้นไทยที่มีการปรับตัวลดลงมาตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งหากกระทบกับความเชื่อมั่น ก็จะมีผลทำให้ต้นทุนในเรื่องของความเสี่ยงต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย นอกเหนือไปจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แล้ว ก็ยังมีประเด็นเรื่องเสถียรภาพและความมั่นคงของธนาคารในสหรัฐฯ อีกด้วย

“เท่าที่ติดตามดูตอนนี้จะมีกระทบแค่ตลาดหุ้น โดยเฉพาะบรรยากาศการลงทุน จากความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่อยากให้ดูอย่างดาวน์โจนส์ หลังจากที่ทางการมีการประกาศเรื่องความชัดเจนของภาระต่างๆ ในประเด็นที่เกิดขึ้น หุ้นก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่เคสอย่างนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยวิกฤติฟองสบู่ของไทย แต่ของสหรัฐ ในรอบนี้ขนาดใหญ่กว่า จำนวนธนาคารในสหรัฐก็เยอะมาก เรื่องที่เกิดเข้าใจว่าเป็นปัญหาเรื่องของการขาดสภาพคล่องของทั้ง 2 ธนาคาร ซึ่งก็ถูกต้องแล้วที่ทางการเขาจะดำเนินการอย่างนี้ ซึ่งหลักการของเขาก็จะคล้ายกับของเรา คือ ต้องไม่เป็นภาระประชาชน”

นายอาคม กล่าวอีกว่า จากข้อมูลในเบื้องต้นทราบว่าสถาบันการเงินหรือกองทุนต่างๆ ของไทยไม่ได้มีธุรกรรมกับ 2 ธนาคารนี้ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ไม่มีผลกับระบบการเงินของไทย ส่วนเรื่องการคุ้มครองเงินฝากตอนนี้สหรัฐก็ทำตามเหมือนที่ไทยได้ทำเมื่อปี 2540 ซึ่งมีการคุ้มครองในระดับจำนวนหนึ่ง แต่ของไทยนั้นการคุ้มครองเมื่อถึงจุดหนึ่งที่หมดความจำเป็น ก็ปรับลดลงมาจนอยู่ในระดับปัจจุบัน

ทั้งนี้ การคุ้มครองเงินฝากเราทำมาก่อนแล้ว ส่วนเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อของไทยนั้น ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณา โดยจะมีการรายงานข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบด้วย

“อย่าไปพูดว่าเราไม่กังวล แต่เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็ติดตามอยู่และก็ได้ประสานกับผู้ว่าการ ธปท. อยู่แล้วด้วย ส่วนที่ว่าจะเป็นจะต้องตั้งทีมพิเศษเพื่อติดตามเรื่องนี้หรือไม่นั้น เชื่อมั่นว่า ธปท. ก็เพียงพออยู่แล้ว”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน