นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ปัจจัยภายนอกกดดันให้การส่งออกไทยติดลบต่อเนื่องตั้งแต่เดือนต.ค.ปี 2565 ล่าสุดเดือนก.พ. ติดลบ 4.7% มูลค่า 22,376.3 ล้านดอลลาร์ คาดการณ์ว่าเดือนมี.ค. ก็ยังคงติดลบต่อเนื่อง มีมูลค่า 23,000-23,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เนื่องจากการชะลอของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญทั้งสหรัฐ จีน ยุโรป ดัชนีภาคการผลิต Manufacturing PMI ในเดือนมี.ค. 2566 หลายประเทศปรับตัวลดลง โดยสหรัฐอยู่ที่ 49.3 ยูโรอยู่ที่ 47.1 และ จีน อยู่ที่ 51.9 โดยเศรษฐกิจจีนยังฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ทำให้การส่งออกไปจีนเดือนก.พ. ติดลบมากถึง 7.86% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ซึ่งสินค้าที่หดตัวแรง คือ ยางพารา และเม็ดพลาสติก

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การแบ่งขั้วทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่ก่อให้เกิดสงครามทางการค้า เทคโนโลยี มาตรการกีดกันทางการค้า ความผันผวนของค่าเงิน และ ต้นทุนราคาพลังงานโลกมีความผันผวน ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงินในสหรัฐ และยุโรป ที่หากลุกลามอาจทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยสูงขึ้น

นายชัยชาญ กล่าวว่า การส่งออกไทยปีนี้อยู่ในภาวะกดดัน และท้าทายสูง คาดว่าไตรมาส 1 จะโตติดลบ 10% เนื่องจากไตรมาส 1 ปี 2565 การส่งออกมีฐานสูง ในไตรมาส 2 ยังคงมีปัจจัยเสี่ยง เศรษฐกิจที่ฟื้นช้าคาดว่าส่งออกจะติดลบ 5%

ส่วนในครึ่งปีหลังสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ต้องติดตามเรื่องราคาน้ำมัน เงินเฟ้อสหรัฐ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะทำการส่งออกครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเติบโตเป็นบวกได้

“เป้าการส่งออกปี 2566 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1-2% เมื่อวิเคราะห์จากสถานการณ์แล้วน่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งคงต้องดูตัวเลขการส่งออกในเดือนพ.ค. และมิ.ย. น่าจะมีความชัดเจน เบื้องต้นคาดว่า การส่งออกทั้งปีจะอยู่ที่ 1% หรือน้อยกว่านี้”นายชัยชาญ กล่าว

ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะ ขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาควบคุมหรือปรับขึ้นค่าไฟฟ้า (เอฟที) ทั้งในภาคการผลิตและภาคครัวเรือนให้อยู่ระดับที่เหมาะสม, ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน และทบทวนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

โดย สรท. เตรียมจัดทำสมุดปกขาวแนวทางกระตุ้นการส่งอออกของไทยในครึ่งปีหลัง เสนอรัฐบาลชุดใหม่ อาทิ การปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า การดูแลต้นทุนการผลิตของภาคเอกชน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งของผู้ประกอบการไทยในเวทีโลกสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านภาคการส่งออกเพื่อยกระดับไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ทั้งในด้านงบประมาณ เครื่องมือรับรอง และมาตรการที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน