แบงก์ชาติ แตะเบรกพรรคการเมือง ทำนโยบายเสี่ยง ย้ำหมดเวลากระตุ้นเศรษฐกิจ-พักหนี้หว่านแห ให้เน้นคุมเสถียรภาพ 4 ด้าน หวั่นหนี้ทะลุเพดานประเทศถูกดาวน์เกรด

วันที่ 24 เม.ย.2566 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะเข้าสู่โหมดในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยปีนี้คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ 3.6% ซึ่งมองว่าระดับการเติบโตของจีดีพีกลับเข้าสู่ช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้ในช่วงไตรมาส 1/2566

โดยเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว คือ ท่องเที่ยว และยังเชื่อว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ส่งออกจะฟื้นกลับมาเป็นบวกได้ราว 4% จากครึ่งปีแรกที่ติดลบ 7% รวมถึงมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้เกิน 4%

ทั้งนี้ ธปท.ไม่ขอแสดงความเห็นกับนโยบายที่พรรคการเมืองนำมาหาเสียง ซึ่งในหลักการแล้วหากเป็นนโยบายที่ออกมาแล้วบั่นทอนต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ ก็เป็นปัจจัยที่ต้องจับตา ซึ่งเมื่อพิจารณาจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาในหลาย ๆ ประเทศ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ 4 เรื่อง ประกอบด้วย

1. เสถียรภาพด้านราคา นโยบายที่ออกมาจะต้องไม่กระตุ้นให้เงินเฟ้อขยายตัวสูงขึ้นมาก (ไฮเปอร์ อินเฟรชั่น) เช่นในหลายประเทศที่จะต้องมีการพิมพ์เงินออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาเสถียรภาพ ทำให้นโยบายการเงินต้องไปตอบสนองนโยบายการคลังเกินความจำเป็น จนขาดเสถียรภาพในการกำหนดนโยบาย

2. เสถียรภาพด้านต่างประเทศ เช่น การทำนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่จะไปกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน

3. เสถียรภาพด้านฐานะการคลัง ที่จะต้องคำนึงบนพื้นฐานหลายอย่าง ไม่ให้ภาระการคลังสูงเกินไปจนกระทบกับเสถียรภาพและหนี้สาธารณะต่อจีดีพี รวมถึงภาระหนี้ต่องบประมาณจะต้องควบคุมไม่ให้สูงเกินไป โดยในส่วนของไทยปัจจุบันภาระหนี้ต่องบประมาณยังอยู่ในสัดส่วน 8.5% และคาดว่าสิ้นปีจะอยู่ที่ 8.75% แต่หากมีการทำนโยบายใช้จ่ายที่กระตุ้นภาระหนี้ให้สูงมากกว่า 10% ประเทศก็อาจจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ

4. เสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ก็ต้องทำนโยบายที่ไม่กระตุ้นให้ผิดวินัยการชำระหนี้ ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้เกิดหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการบั่นทอนเสถียรภาพ

“นโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองต่าง ๆ จะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อให้ปรับสูงขึ้นหรือไม่ ก็ต้องไปดูที่รูปแบบ วิธีการในแต่ละนโยบาย แต่ในมุมของ ธปท. เศรษฐกิจไทยขณะนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้น แต่ควรที่จะให้น้ำหนักในเรื่องของการดูแลเสถียรภาพ ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นการได้ผลในระยะสั้น ส่งผลค้างเคียงให้เกิดภาระหนี้ตามมา จึงจำเป็นต้องสร้างศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะเร่งผลักดันเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน”

นอกจากนี้ มาตรการพักหนี้ไม่ควรใช้อย่างยาวนาน เนื่องจากภาระของลูกหนี้ไม่ได้ลดลง เนื่องจากดอกเบี้ยยังเก็บตามปกติ แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยังมีความจำเป็น เพราะทุกอย่างหยุดชะงักทั้งหมด จึงต้องทำมาตรการแบบวงกว้าง แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ก็เห็นว่าการทำนโยบายพักหนี้แบบทอดแหไม่ดีแน่ ต้องปรับเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ แบบเฉพาะเจาะจง โดยเน้นปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดการเสียวินัยในการชำระหนี้

สำหรับทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทยนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะต้องมีการพิจารณาข้อมูลประกอบอย่างรอบคอบ ส่วนจะให้พูดว่าอัตราดอกเบี้ยควรจะสิ้นสุดเมื่อไหร่คงไม่เหมาะสม แม้ว่าปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อล่าสุดที่ 2.8% จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายแล้ว แต่ก็เป็นการปรับเข้ากรอบเพียงเดือนเดียว โดยขอไม่แสดงความคิดเห็นในส่วนที่ กนง.จะมีการพิจารณาความเหมาะสมว่าอัตราเงินเฟ้อควรจะปรับเข้ากรอบกี่เดือน

สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทย ยืนยันว่า ขณะนี้ไม่ใช่หนี้ทั้งหมดที่น่าเป็นห่วง เพราะหนี้กว่า 60% มีการใช้อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ แต่ส่วนที่ต้องจับตาดูคือฝั่งที่เป็นผลกระทบต่อลูกหนี้จากการปรับขึ้นดอกเบี้ย

ส่วนผลกระทบต่อเจ้าหนี้ โดยเฉพาะฝั่งธนาคารพาณิชย์นั้นยังไม่เห็น เนื่องจากมีการสำรองอย่างเพียงพอ แต่อยากให้สบายใจในระดับหนึ่งว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนจะไม่ลามไปเป็นปัญหาเสถียรภาพต่อระบบการเงินโดยรวม แต่การที่ระดับหนี้ครัวเรือนสูงและลงช้านั้นจะเป็นตัวถ่วงให้เศรษฐกิจและครัวเรือนฟื้นตัวได้ลำบาก ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องทำแบบครบวงจร ถูกหลักการ และต้องใช้เวลา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน