“พลังงาน” เปิดตัวเลขสำรองไฟฟ้า ไม่ได้สูงถึง 50-60% ไม่ขอยุ่งพรรคการเมืองเอาค่าไฟไปหาเสียง หวังค่าไฟงวด ก.ย.-ธ.ค.66 ไม่เกินหน่วยละ 4.70 บาท ยัน กฟผ.รับภาระหนัก 1.5 แสนล้าน

วันที่ 25 เม.ย.2566 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กรณีที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตประเด็นอัตราการสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin : RM) ว่าเป็นหนึ่งสาเหตุทำให้ค่าไฟแพงนั้น ขอชี้แจงว่าปัจจุบันปริมาณสำรองไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ 36% ไม่ได้สูงถึง 50-60% โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นการนำค่ากำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญามาคำนวณ จึงไม่สะท้อนอัตราการสำรองไฟฟ้าแท้จริง อาทิ ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล กลุ่มนี้ไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากปัจจัยช่วงเวลา ฤดูกาล ถูกคำนวณเป็นสำรองไฟฟ้าแต่ไม่ใช่สำรองไฟฟ้าที่แท้จริง

“การสำรองไฟฟ้าจริงๆ แล้วมีประเด็นตลอด โดยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ที่กำหนดการจัดหาพลังงานไฟฟ้า 20 ปี ซึ่งกระทรวงพลังงานก็ต้องเตรียมการไว้ เพื่อก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ดังนั้น การจะต้องมีการเปิดทำไฟสะอาดเป็นเรื่องที่จำเป็น การสำรองไฟ ไฟสะอาด หากไม่มีไฟตลอดเวลาจำเป็นต้องสำรองไว้ ตรงนี้ก็ต้องสำรองเพื่อความมั่นคงในอนาคต”

ทั้งนี้ หากจะให้ค่าไฟฟ้ามีราคาต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วยนั้น หากดูแผนพีดีพีก่อนหน้านี้ การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ในช่วงนั้นถูกมาก โดยปี 2562-2563 อยู่ที่ระดับ 6-7 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู กระโดดมาที่ 40-50 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จากปัจจัยเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิด-19 ระบาด รวมถึงสงครามรัสเซียและยูเครน ดังนั้น ต้นทุนฐานไม่ได้มีการกระทบ แต่ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) กระทบกับราคาค่าไฟที่แพงขึ้น เพราะมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงแอลเอ็นจีในช่วงตอนปลายปี 2565 ที่มีราคาแพงมาก

“ขณะนี้พยายามคำนวณในราคาที่ลดลงมาที่ 19-20 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้กำชับ บริษัท ปตม. จำกัด (มหาชน) จัดหาให้ได้ในราคา 13-15 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูในรอบหน้า เพื่อทำให้ราคาลดลง”

สำหรับการปรับลดค่าเอฟทีงวดที่ 2 สำหรับเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 ตามมติ กกพ. เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2566 ที่ลดค่าไฟฟ้าลง 7 สตางค์ จาก 4.77 บาทต่อหน่วย เหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ยอมรับภาระค่าเอฟทีเพิ่มจาก 6 งวด เป็น 7 งวดไฟฟ้า เพื่อให้อยู่ในกรอบในการรับภาระได้ภายใน 2 ปี กระทรวงพลังงานยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่ได้นิ่งเฉย โดยจากการประมาณการตัวเลขสถานะทางการเงินของ กฟผ. ขณะนี้ น่าจะแบกภาระได้เท่านี้ คืองวดสุดท้าย หากรับภาระยาวกว่านี้ จะมีผลต่อการกู้เงินและเครดิต กฟผ.

“เราก็พยายามลุ้นว่า สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน จะดีขึ้น และกำลังผลิตก๊าซในอ่าวไทยที่ลดลงจะกลับมาเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่ บริษัท สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. อยู่ระหว่างเพิ่มกำลังการผลิต จะทดแทนการนำเข้าได้ โดยหวังว่าช่วงปลายปีราคานำเข้าจะถูกลง และกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งแนวโน้วตอนนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อยู่ระหว่าง 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะเป็น 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปลายปีนี้ ร่วมถึงหวังว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะดีขึ้น ส่วนกรณีที่ภาคการเมืองเอาเรื่องของค่าไฟไปหาเสียง โดยจะยกเลิกค่าเอฟทีในระยะสั้นนั้นไม่ขอไม่วิจารณ์”

ด้าน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า เมื่อต้องแบกค่าเอฟทีรวม 1.5 แสนล้านบาท สิ่งที่ทำได้คือการเจรจากับคู่สัญญา อย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมถึง 2 การไฟฟ้าจัดจำหน่ายที่กฟผ. ต้องรับเงิน รวมถึงการกู้เงินทั้ง 2 ก้อนรวม 1.1 แสนล้านบาทของ กฟผ. ถือเป็นการกู้เงินระยะสั้นและเบิกได้ตามวงเงิน เป็นการกู้โดยการใช้งานที่ต้องจ่ายเงินต้นและคืนภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่ง กฟผ. จึงต้องทำกระแสเงินสดที่บริหารอย่างเต็มที่








Advertisement

“การกู้เงินรวม 1.1 แสนล้านบาท เป็นการกู้ระยะสั้น หากไม่ได้เงินค่าเอฟทีที่ค้างรับ จะทำให้การจัดอันดับเครดิตที่เคยดีมาตลอดของเรามีปัญหา ซึ่งการแบกรับค่าเอฟทีให้ประชาชนตอนนี้ เหมือนอูฐแบกฟาง จนจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายแล้วจึงไม่สามารถเพิ่มภาระได้อีกจากวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท เดิม 6 งวด ต้องทยอยคืนงวดละประมาณ 2 หมื่นล้าน ก็ขยายเป็น 7 งวด ซึ่งจะครบ 4 เดือนแรกของปี 2568 ซึ่งช่วงนั้นรัฐบาลต้องหาเงินมาอุ้ม”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน