นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาขยะอาหาร (Food Waste) โดยหลายประเทศได้ออกกฎหมายให้มีการนำอาหารที่เดิมจะต้องทิ้งเป็นขยะอาหาร มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และแก้ปัญหาความอดยาก

ล่าสุดฝรั่งเศส ออกกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านขยะอาหาร กำหนดให้ร้านค้าปลีกตั้งแต่ 400 ตารางเมตร ห้ามทิ้งและทำลายอาหารที่ยังไม่หมดอายุ ให้ใช้วิธีบริจาคให้องค์กรการกุศลหรือธนาคารอาหาร และมีมาตรการด้านภาษีเป็นแรงจูงใจ

ขณะที่สหรัฐ ออกกฎหมายกำหนดให้ผู้บริจาคอาหารโดยสุจริต ไม่ต้องรับโทษทางแพ่งและอาญา หากอาหารที่บริจาคไปเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และปัจจุบันมีการจัดทำฐานข้อมูลแหล่งผลิตอาหารกว่า 1.2 ล้านแห่งทั่วประเทศ มีหน่วยรับบริจาคกว่า 5,000 แห่ง

และเกาหลีใต้ ได้เปลี่ยนการเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บขยะในอัตราคงที่ เป็นเก็บตามสัดส่วนปริมาณขยะที่ทิ้งและให้แยกขยะ หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ เพื่อจูงใจให้ครัวเรือนลดปริมาณขยะ เรียนรู้การแยกขยะ

ขณะที่ภาคเอกชนในหลายประเทศ ได้พัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อช่วยลดปัญหาขยะอาหาร เช่น สหรัฐ มีแอพพลิเคชัน Misfits Market ให้คนซื้อผลผลิตทางการเกษตรที่คุณภาพดี แต่ไม่สวยในราคาถูกกว่าปกติ 40%, เดนมาร์ก มีแอพฯ Too Good To Go ช่วยให้ร้านอาหารนำอาหารส่วนเกินมาขายแบบลดราคา เป็นต้น

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันภาคเอกชนไทยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ โดยมีการเชื่อมโยงอาหารส่วนเกินกับผู้ที่ต้องการ อาทิ มูลนิธิรักษ์อาหาร หรือ SOS Thailand รับบริจาคอาหารจากร้านค้าปลีก หรือโรงแรม เพื่อนำมาส่งต่อให้ผู้ที่ต้องการ แต่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ทั้งโรงเรียน ชุมชน และสถานสงเคราะห์ มีแอพฯ

“ภาครัฐควร พิจารณาหาแนวทางและกลไกช่วยแก้ปัญหาขยะอาหาร โดยประยุกต์ใช้แนวทางปฏิบัติที่ดีจากหลายประเทศ เพื่อเร่งการลดปริมาณขยะอาหารในทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยปัญหาขยะอาหาร เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ต้องการร่วมกันลดปริมาณขยะอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030”

สำหรับรายงานดัชนีขยะอาหารปี 2564 (Food Waste Index Report 2021) ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า ทั่วโลกมีปริมาณขยะอาหารกว่า 931 ล้านตัน เทียบได้กับรถบรรทุก 40 ตัน จำนวน 23 ล้านคัน ซึ่งเกิดจากผู้บริโภค 61% ผู้ประกอบการ 26% และผู้จำหน่ายอาหาร 13% โดยเฉลี่ยแล้วทั่วโลกมีปริมาณขยะอาหารคิดเป็น 74 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

ส่วนประเทศไทยรายงานดัชนีขยะอาหาร ปี 2564 ประเมินว่ามีปริมาณขยะอาหาร 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งใกล้เคียงกับข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ที่ระบุว่าในปี 2563 ไทยมีปริมาณขยะอาหาร 5.58 ล้านตัน หรือ 80 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ขณะที่ไทยมีสัดส่วนผู้หิวโหยสูงถึง 9% ของประชากรทั้งประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน