นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) ของไทย เดือนพ.ค. 2566 ว่า เท่ากับ 107.19 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นเพียง 0.53% ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 21 เดือน เนื่องจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้าจากมาตรการดูแลของรัฐบาล รวมทั้งราคาสินค้าหมวดอาหารชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือนพ.ค.ปีก่อน อยู่ระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ชะลอตัวค่อนข้างมาก และหากเทียบ กับเดือนก่อนหน้าพบว่าลดลง 0.71%

ทั้งนี้ เงินเฟ้อพ.ค. ที่เพิ่มขึ้น 0.53% เป็นผลมาจาก ราคาสินค้าและบริการ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 3.99% ขณะที่หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.83 % รายการที่ราคาลดลงเป็นสำคัญ เช่น ราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มดีเซล แก๊สโซฮอล์ เบนซิน ค่ากระแสไฟฟ้า เนื้อสุกร น้ำมันพืช เป็นต้น

ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักอาหารสดและพลังงานออก) ในเดือนพ.ค. 2566 พบว่าชะลอตัวลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นเพียง 1.55% และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นเพียง 0.06% เท่านั้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 2.96 %

“ราคาพลังงานที่มีแนวโน้มลดลงกว่าปีก่อนมาก ค่าไฟที่ลดลงจากมาตราการช่วยเหลือของรัฐบาล และฐานราคาในเดือนมิ.ย.ปีก่อนที่ใช้ในการคำนวณเงินเฟ้อที่ค่อนข้างสูง จะทำให้อัตราเงินเฟ้อใน เดือนมิ.ย. 2566 และเดือนถัดไป ต่ำลงเรื่อยๆ อาจเห็นตัวเลขติดลบ ในบางเดือน โดยไตรมาส 2 อาจจะเห็นตัวเลข 1% ไตรมาสที่ 3 จะต่ำกว่า 1% และไตรมาสที่ 4 จะต่ำลงอีก ดังนั้น ในเดือนมิ.ย. กระทรวงพาณิชย์ มีแนวโน้มที่ประกาศปรับลดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั้งปีให้ต่ำกว่าเป้าเดิม ที่ 1.7-2.7% หรือค่ากลาง ที่ 2.2%”

นายวิชานัน กล่าวยอมรับว่า ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อัตราเงินเฟ้ออาจจะไม่ลดลงตามที่คาดการณ์ ประกอบด้วยความแปรปรวนของสภาพอากาศ อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น และต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการยังอยู่ระดับสูง ทั้งราคาก๊าซหุงต้ม ค่าแรง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจจะทำให้เงินเฟ้อมีโอกาสผันผวนได้บ้าง ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับอัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนเม.ย. 2566 เมื่อเทียบกับต่างประเทศ พบว่า ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ทั้ง สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน