กรมประมง ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรในช่วงสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ในทะเลอ่าวไทยตอนใน (อ่าวไทยรูปตัว ก) ประจำปี 2566 ช่วงที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.- 15 ส.ค. และช่วงที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.-30 ก.ย. ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด จึงขอความร่วมมือพี่น้องชาวประมงปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

 

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงประกาศใช้มาตรการปิดอ่าวไทยรูปตัว ก ประจำปี 2566 จำนวน 2 ช่วง ดังนี้ ช่วงที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.-15 ส.ค. 2566 ในพื้นที่จับสัตว์น้ำอ่าวไทยตอนใน ฝั่งตะวันตก บางส่วนของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร โดยเริ่มจาก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และสิ้นสุดที่ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,350 ตารางกิโลเมตร

ช่วงที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.- 30 ก.ย. 2566 ในพื้นที่จับสัตว์น้ำอ่าวไทยตอนใน ด้านเหนือบางส่วนของ จ.สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี โดยเริ่มจาก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร และสิ้นสุดที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,650 ตารางกิโลเมตร
สำหรับบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสามสิบล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครองอีกด้วย

ทั้งนี้ ในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน หากพิจารณาจากผลจับสัตว์น้ำจากเครื่องมือประมงพาณิชย์ (เครื่องมืออวนล้อมจับ) เฉพาะในพื้นที่อ่าวไทยตอนในช่วงหลังมาตรการฯ พบว่าปี 2565 มีอัตราการจับเฉลี่ยเท่ากับ 11,716.75 กิโลกรัม/วัน เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2564 ถึง 8,631.33 กิโลกรัม/วัน (ปี 2564 ที่มีอัตราการจับเฉลี่ยเท่ากับ 3,085.42 กิโลกรัม/วัน) โดยสัตว์น้ำหลักที่จับได้ อาทิ ปลามงโกรย ปลาหลังเขียว ปลาสะดือขอ

แต่โดยภาพรวม การปิดอ่าวฯ ส่งให้ผลการจับปลาเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวสูงขึ้นจากการเพิ่มของกลุ่มปลาผิวน้ำ เช่น ปลาสีกุนเขียว ปลาหลังเขียว และปลาตะเพียนน้ำเค็ม

สำหรับปลาทู ลูกปลาที่เกิดมาใหม่ในพื้นที่อ่าวไทยตอนกลาง (ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี) เริ่มเดินทางเข้าหาฝั่ง ซึ่งกรมประมงประกาศปิดต่อเนื่องบริเวณเขตชายฝั่งทะเลของจ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. เพื่ออนุรักษ์ลูกปลาทูที่เกิดใหม่
รวมทั้งประกาศปิดเขตต่อเนื่องบริเวณปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึง อ.หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรักษาปลาทูสาวให้หากินและเลี้ยงตัว จนมีขนาดประมาณ 11-12 ซม. หลังจากนั้นจะเริ่มเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่อ่าวไทยตอนใน (อ่าวไทยรูปตัว ก) ฝั่งตะวันตก ในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค. ในช่วงเวลาดังกล่าวจะพบปลาทูที่มีขนาด ประมาณ 14-15 ซม. ซึ่งเรียกว่า ปลาทูสาว และอยู่หากินในพื้นที่ โดยค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ และเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ก้นอ่าว หรือพื้นที่ปิดฝั่งเหนือช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. ในช่วงเวลาดังกล่าวพบปลาทูมีขนาด ประมาณ 16-17 ซม. ซึ่งเป็นขนาดพ่อแม่พันธุ์ เริ่มมีไข่ ปลาทูกลุ่มนี้จะเลี้ยงตัวอยู่ในบริเวณอ่าวไทยตอนในจนปลายปี เมื่อมีความพร้อมที่จะวางไข่ ปลาทูกลุ่มนี้จึงเริ่มอพยพเคลื่อนตัวลงสู่แหล่งวางไข่ในอ่าวไทยตอนกลางอีกครั้งเป็นไปตามวงจรชีวิตปลาทู ซึ่งเป็นผลจากการกำหนดมาตรการ

ดังนั้น การดำเนินตามมาตรการจึงต้องมีต่อไป เพื่อคุ้มครองสัตว์น้ำ มิให้ถูกจับก่อนที่จะมีโอกาสได้ผสมพันธุ์และวางไข่ หรือถูกจับก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมดุลภายในขีดความสามารถของระบบนิเวศ และจะเป็นหนทางในการนำปลาทูกลับฟื้นคืนความสมบูรณ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน