น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากออกมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน พบว่าสถาบันการเงินทุกแห่งทำตามกรอบเวลาและมีความคืบหน้าไปตามแผน โดยกรณีถูกหลอกลวงผ่านแอพฯ ดูดเงินลดลงในช่วงไตรมาส 1/2566 แต่เริ่มมากขึ้นในเดือน พ.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา เพราะมิจฉาชีพเปลี่ยนรูปแบบหลอกลวงอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งเมื่อรวมการถูกหลอกลวงแอพฯ ดูดเงินตั้งแต่เดือน ธ.ค.2565-มิ.ย.2566 เกิดความเสียหายแล้ว 1,152 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผู้ที่ใช้มือถือสมาร์ตโฟนระบบแอนดรอยด์ต้องระวังให้มาก เพราะแอพฯ ดูดเงินทุกกรณีพบเฉพาะระบบแอนดรอยด์ อย่าไปโหลดแอพฯ นอกสโตร์ทางการ แต่เมื่อโดนหลอกแล้วให้ตั้งสติ และหยุดการติดต่อกับมิจฉาชีพทันที และแจ้งอายัดธนาคารซึ่งจะใช้เวลาอายัดภายใน 72 ชั่วโมงเท่านั้น จึงขอย้ำว่าเมื่อแจ้งอายัดแล้วให้ผู้ที่ถูกหลอกลวงเสียหายไปแจ้งความกับตำรวจด้วย เพื่อให้ธนาคารดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างพัฒนาระบบตรวจจับและติดตามบัญชีหรือธุรกรรมต้องสงสัยแบบทันที เพื่อให้การระงับธุรกรรมเป็นการชั่วคราวเมื่อตรวจพบทำได้เร็วขึ้น คาดแล้วเสร็จภายในธ.ค.2566 หลังจากเริ่มมาตรการตรวจจับของสถาบันการเงินทุกแห่งแล้วในการติดตามเข้าข่ายผิดปกติ หรือกระทำความผิด และรายงานไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และมาตรการตอบสนองและรับมือสถาบันการเงินทุกแห่งจัดให้มีช่องทางติดต่อเร่งด่วนตลอด 24 ชั่วโมง แยกจากช่องทางให้บริการปกติ เพื่อให้ผู้ใช้บริการแจ้งเหตุได้เร็ว รวมทั้งดูแลผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบ

ขณะเดียวกัน ธปท.ประสานการทำงานกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการระงับลิงก์ปลอมหลอกลวงทันทีที่ตรวจพบในทุกช่วงทางทั้งเอสเอ็มเอส หรือไลน์ หลังจากทุกธนาคารได้ยกเลิกส่งแนบลิงก์ให้ลูกค้าแล้ว ดังนั้นหากใครที่มีลิงก์ธนาคารส่งเข้ามา ให้คิดเสมอว่าลิงก์ปลอมห้ามกดคลิก เพื่อป้องกันความเสียหายได้

“เพจปลอมที่แอบอ้างผู้บริหารธปท. โดยเฉพาะแอบอ้างผู้ว่าการธปท. ตอนนี้ได้แจ้งเฟซบุ๊กให้ดำเนินการปิดเพจเรียบร้อยแล้วซึ่งเป็นกระบวนการปกติ เมื่อมีคนปลอมเป็นตัวเรา แจ้งไปเฟซบุ๊กได้เลย ส่วนตอนนี้เจอการหลอกลวงแอบอ้างมาจากหน่วยงานราชการต่างๆ ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าหลุดไปจากที่ไหน ทำงานประสานกับตำรวจอยู่ หากเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐใด ตำรวจจะคุยกับหน่วยงานภาครัฐนั้นและดำเนินการจัดการ”

น.ส.สิริธิดา กล่าวว่า มาตรการป้องกัน หลายมาตรการสถาบันการเงินทุกแห่งดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ได้แก่ การยกเลิกแนบลิงก์ทุกประเภทผ่านเอสเอ็มเอส อีเมล์ และการยกเลิกแนบลิงก์ขอข้อมูลสำคัญผ่านโซเชียลมีเดีย การจำกัดจำนวนบัญชีผู้ใช้งานโมบายแบงก์กิ้งของแต่ละสถาบันการเงินให้ใช้ได้ใน 1 อุปกรณ์ และการพัฒนาระบบความปลอดภัยบนโมบายแบงก์กิ้งให้เท่าทันภัยการเงินรูปแบบใหม่

นอกจากนี้ หลายมาตรการสถาบันการเงิน ส่วนใหญ่ดำเนินการแล้ว และจะเสร็จทุกแห่งภายในสิ้นปี 2566ได้แก่ การแจ้งเตือนผู้ใช้บริการโมบายแบงก์กิ้ง ก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง การกำหนดเพดานวงเงินถอนโอนสูงสุดต่อวัน ให้เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของกลุ่มผู้ใช้บริการแต่ละประเภท และการประเมินความตระหนักรู้ต่อภัยทุจริต รวมทั้งการยกระดับความเข้มงวดในกระบวนการยืนยันตัวตนขั้นต่ำด้วยไบโมเมทริก โดยการสแกนใบหน้าเมื่อเข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในการทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงก์กิ้ง เช่น โอนเงินมากกว่า 50,000 บาทต่อครั้ง หรือ 200,000 บาทต่อวัน หรือปรับเพิ่มวงเงินทำธุรกรรมต่อวันเป็นตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน