นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานคณะการกำกับดูแลโครงการทางหลวงสัมปทานตอนดินแดง-ดอนเมืองโทลเวย์ ครั้งที่1/2561 ว่า คณะกรรมการฯ เร่งรัดให้บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์ ส่งแผนธุรกิจและแผนการดำเนินงานปรับปรุงระบบเก็บเงินค่าผ่านทางระบบเงินสด และพัฒนาระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ หรือ ระบบ ETC เพื่อให้สามารถใช้ร่วมกับระบบ M-Passบนมอเตอร์เวย์ ของกรมทางหลวง (ทล.) และระบบ Easy Pass ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยมอบให้บริษัทไปหารือร่วมกับ ทล. และ กทพ. ในการวางแผนจัดทำระบบอีทีซีของโทลล์เวย์ สามารถเปิดให้บริการให้ได้ในปี 2563 เบื้องต้นบริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 300-400 ล้านบาท ในการปรับระบบจัดเก็บค่าผ่านทางทั้งระบบเดิมแบบเงินสดและติดตั้งระบบใหม่คือระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ

นอกจากนี้ บริษัท ทางยังได้รายงานปริมาณการจราจรบนโทลล์เวย์ปี 2560 ว่ามีจำนวน 153,799 คัน เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ประมาณ 152,770 คัน ส่งผลให้รายได้ภาพรวมปี 2560 อยู่ที่ 3,193 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ระดับ 3,166 ล้านบาท โดยมีสถิติอุบัติเหตุจำนวน 146 ครั้ง บริเวณทางลงหลัก 4 กม.ที่ 17.9-19.8 เป็นช่วงที่พบว่าเกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด ซึ่งกรรมการฯ ขอให้บริษัท กลับไปจัดทำแผนลดอุบัติเหตุมาเสนอโดยเร็ว และให้เร่งปรับปรุงซ่อมแซมผิวถนนและโครงสร้างทาง รวมติดตั้งป้ายเตือนความเร็วในการขับขี่บนทางด่วนด้วยเพื่อลดอุบัติเหตุด้วย

นายพีระพลกล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้พิจารณาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วง หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่งจะมีการก่อสร้างทางคร่อมเหนือโทลล์เวย์ด้วย โดยกำชับให้โทลล์เวย์ดูแลการก่อสร้างไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่เดินทางสัญจร รวมทั้งกระทบกับการจราจรบนท้องถนน ซึ่งบริษัทแจ้งให้ทราบว่าได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานก่อสร้างรถไฟฟ้าช่วงดังกล่าวแล้ว โดยหากเกิดอุบัติเหตุบริษัทอิตาเลี่ยนไทยฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน