ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง “แอชตัน อโศก” ผู้บริหารอนันดา เตรียมถก กทม.-รฟม. หาทางออก ยันไม่ผิด ทำตามกฎหมาย จ่อฟ้องหน่วยงานรัฐ หากถึงทางตัน

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 27 ก.ค. 2566 นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทอนันดา ดิเวลลอปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวภายหลังศาลปกครองสูงสุด ออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก ของบริษัท อนันดาฯ เนื่องจากใช้ทางร่วมกับที่ดินเวนคืนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายชานนท์ ระบุว่า เบื้องต้นบริษัทจะขอเวลาประมาณ 14 วัน เพื่อไปหารือหน่วยงานต้นเรื่องคือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และกรุงเทพมหานคร(กทม.) เพื่อหารือและหาทางออกร่วมกันในเบื้องต้นว่าจะดำเนินการแก้ไขและหาทางเยียวยาเรื่องนี้อย่างไร เนื่องจากเรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นความผิดของทางบริษัท เพราะบริษัทดำเนินการทุกอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งการขอใบอนุญาตก่อสร้างและการขอใช้พื้นที่จาก รฟม. เรื่องนี้ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย รวมทั้งลูกบ้าน ลูกค้า และผู้ถือหุ้น

“ประเด็นที่ศาลสั่งคือผิดประกาศกระทรวงฉบับที่ 33 ที่นำที่ดินรัฐมาดำเนินการ ขัดต่อกฎหมาย กรณีนี้เป็นกรณีแรกที่เกิดขึ้นกับวงการอสังหาริมทรัพย์ของไทย ในโครงการดังกล่าว บริษัทได้ใบอนุญาต 9 ใบ จาก 7 หน่วยงาน ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการต่างๆ รวม 5 ชุด ปัจจุบันพบว่าใน กทม. มีโครงการที่คล้ายกันอีก 13 โครงการ และโครงการใกล้เคียงเป็น 100 โครงการที่ขอเชื่อมทางกับหน่วยงานของรัฐ และเราได้จ่ายค่าตอบแทนให้รฟม.เกือบ 100 ล้านบาท”

นายชานนท์ กล่าวอีกว่า โครงการมีทั้งหมด 668 ยูนิต มูลค่ารวม 6,481 ล้านบาท มีผู้เข้าอยู่อาศัยหรือมีการโอนโฉนดไปแล้ว 580 ครัวเรือน หรือคิดเป็นมูลค่า 5,653 ล้านบาท แบ่งเป็นคนไทย 438 ราย ต่างชาติ 142 ราย คิดเป็น 84% และอยู่มานานกว่า 4 ปี หากจะต้องทุบตึกทิ้งก็ต้องส่งผลกระทบกับลูกบ้านทั้ง 580 ครอบครัวเป็นอย่างมาก จึงต้องหาทางออกร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบจากคำสั่งครั้งนี้

ด้านนายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บมจ.อนันดาฯ กล่าวว่า ลูกบ้านโครงการแอชตันฯ ยังสามารถอาศัยอยู่ในโครงการได้ เนื่องจากศาลมีคำสั่งแค่เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง แต่ยังไม่มีการเพิกถอนใบอนุญาตการใช้อาคาร เชื่อว่าต้องใช้เวลาอีกนาน แต่บริษัทยืนยันว่าจะต้องหาทางออกและเยียวยาเรื่องที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ต้องไปหารือกับทางหน่วยงานราชการ เพราะไม่ใช่ความผิดของเรา

“ยืนยันว่าเราทำโดยสุจริต หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันรับผิดชอบและหาทางออก ส่วนจะมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือไม่ จะเป็นกระบวนการต่อไป เพราะต้องดูว่าหน่วยงานไหนรับผิดชอบอย่างไร”

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า เราในฐานะเจ้าของบริษัท จะต้องเรียกร้องควมเสียหายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบกับภาพลักษณ์ และการที่ใช้ที่ดินรัฐในการใช้ทางออกร่วมนั้น เชื่อว่าในอนาคตอาจจะต้องมีการหารือกันด้วยว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวด้วยหรือไม่ เพราะปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

“เราต้องหารือทั้งกทม.และรฟม. ต้องไปดูว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาเยียวยาบ้าง สุดท้ายหากทำทุกวิถีทางแล้วไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้และต้องทุบตึกทิ้งอย่างเดียวนั้น เราต้องฟ้องหน่วยงานราชการ และราชการก็ต้องไปฟ้องศาลต่อไป”

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนและลูกค้าพอสมควร เพราะเป็นเรื่องกฎหมายของรัฐ ที่หน่วยงานรัฐซึ่งมีความเชี่ยวชาญถูกฟ้องร้อง ซึ่งผู้ร่วมลงทุนของเราคือบริษัทมิตซุยก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตนั้นล้วนมีความเชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายแทบทั้งสิ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน