เมื่อวันที่ 7 ส.ค. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ประชุมร่วมกับทูตพาณิชย์ 58 แห่งทั่วโลก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมหารือ เพื่อติดตาม และประเมินผลกระทบต่อภาคเกษตรของไทยจากกรณีปัญหาเอลนีโญ ภัยแล้งในประเทศ และกรณีที่อินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวขาว

โดยที่ประชุมประเมินว่าเอลนีโญ ได้ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรไทยในช่วงเดือนพ.ค.-ต.ค. 2566 ในระดับอ่อนคือ 0.8 เทียบกับภัยแร้งรุนแรงในปี 2559 ซึ่งอยู่ในระดับกลางที่ 1.2 โดยคาดว่าปริมาณน้ำฝนปีนี้จะลดลง 5% ขณะที่น้ำในเขื่อนจะลดลง 50% ซึ่งจะส่งกระทบทำให้ผลผลิตข้าวเปลือกปีนี้ปรับลดลงจาก 34.3 ล้านตันปีก่อน เหลือ 32.35 ล้านตันในปีนี้ หรือลดลง 2 ล้านตัน นอกจากนี้ จึงขอความร่วมมือให้ชาวนาในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองงดปลูกข้าวนาปรังด้วย

ส่วนผลกระทบจากกรณีอินเดียห้ามส่งออกข้าว คาดว่าจะทำให้ราคาข้าวทั่วโลกเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดเกษตรกรไทยขายข้าวเปลือกได้ราคาเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนห้ามส่งออก ถือ เป็นโอกาสที่ข้าวไทยจะทำตลาดในแอฟริกาได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ผลผลิตข้าวที่ลดลงจะกดดันราคาทำให้ราคาข้าวเกิดความผันผวนและเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปศุสัตว์ ตลาดการบริโภคข้าวสารภายในประเทศ และทั่วโลก ที่ประชุมจึงมีมติให้จัดตั้งวอร์รูมติดตามปัญหาเอลนีโญ และสถานการณ์ภัยแล้ง มอบให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นรองประธานและผู้แทนส่วนราชการ ทำหน้าที่ติดตามปริมาณผลผลิตและราคาข้าว และพืชผลเกษตร พร้อมทั้งรายงานข้อมูลและเสนอแนวทางในการกำกับดูแลให้ รมว.พาณิชย์ รับทราบทุกๆ 1-2 สัปดาห์

“หลังจากอินเดียห้ามส่งออกข้าว ราคาข้าวเปลือกภายในก็ขยับราคาขึ้นไป 7% ขณะที่ปัญหาเอลนิโญ และภัยแล้งจะทำให้ผลผลิตข้าวเปลือกปีนี้หายไป 2 ล้านตัน จึงสั่งการให้กรมการค้าภายในตั้งวอร์รูมติดตามราคาข้าวสารอย่างใกล้ชิด เพื่อหาจุดสมดุลว่าราคาข้าวเปลือกที่สูงขึ้นจะส่งผลให้ราคาข้าวสารแพงเกินสมดุลไหม ถ้าหากราคาแพงเกินไปจะต้องควบคุมให้ผู้บริโภคอยู่ได้ เกษตรกรก็ต้องอยู่ได้ด้วย ภายใต้วินวินโมเดล อย่างไรก็ตาม ผลผลิตข้าวที่ลดลง ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของไทยโดยยังส่งออกได้เฉลี่ย 7-8 แสนตัน/เดือน และยังไม่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคจนต้องมีการห้ามการส่งออกข้าวไทย

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีทองของเกษตรกรไทย โดยราคาข้าวเปลือกเกือบทุกชนิดปรับเพิ่มขึ้นจนสูงกว่าราคาประกันรายได้แล้ว โดยข้าวเปลือกหอมมะลิ อยู่ที่ 1.5 หมื่นบาท/ตัน ราคาประกันอยู่ที่ 1.4-1.6 หมื่นบาท/ตัน, เปลือกปทุมธานี อยู่ที่ 1.1 หมื่นบาทตัน ราคาประกันอยู่ที่ 1.2-1.3 หมื่นบาท/ตัน, เปลือกเจ้า อยู่ที่ 1 หมื่นบาท/ตัน ราคาประกัน 1.1-1.2 หมื่นบาท/ตัน และข้าวเปลือกเหนียว อยู่ที่ 1.2 หมื่นบาท/ตัน ราคาประกัน 1.35-1.47 หมื่นบาท/ตัน

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึงแนวโน้มราคาข้าวเปลือก ว่า ล่าสุดราคาข้าวเปลือกสดปรับสูงขึ้นเป็น 1.2 หมื่นบาท/ตัน ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์แบบไม่เคยปรากฎมาก่อน สูงกว่าราคาประกันตันละ 2-3 พันบาท โดยโรงสีข้าวมีการปรับขึ้นราคารายวัน ทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถจะซื้อข้าวมาส่งออกได้ เพราะโค้ดราคาไม่ถูก ซึ่งต้องจับตาว่า อินเดียห้ามส่งออกข้าวอีกนานแค่ไหน ส่วนเป้าหมายการส่งออกข้าวปีนี้อาจจะส่งออกได้ปริมาณสูงกว่าเป้าหมาย คาดการณ์ที่ 8 ล้านตัน ขณะที่มูลค่าการส่งออกข้าวทั้งปีนี้จะปรับเพิ่มสูงขึ้นจากเป้าหมาย 20% ตามราคาข้าวที่แพงขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน