เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพนมทวน ทองน้อย รองประธานบริหารสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จาก กฟผ. ที่แต่งกายด้วยชุดดำจำนวน 100 กว่าคน จากโรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าวังน้อย และเขื่อนศรีนครินทร์ เปิดเผยในโอกาสเข้ายื่นหลังสือให้กับ นายธีระศักดิ์ จรัสศรีวิสิษฐ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงพลังงาน ที่เข้ารับหนังสือแทน นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2561 เพื่อแสดงจุดยืนว่ากฟผ. ขอความชัดเจนในนโยบายและทิศทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ เนื่องจากการลงนามข้อตกลง(เอ็มโอยู) ระหว่างรมว.พลังงาน กับเครือข่ายปกป้องฝั่งทะเลต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และเทพา ส่งผลให้การสร้างโรงไฟฟ้าชะลอออกไป นำมาสู่ความสับสนต่อ กฟผ.องค์การที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายและทิศทาง

ทั้งนี้จึงมีการยื่นหนังสือเพื่อต้องการสอบถามรมว.พลังงานดังนี้

1.ท่านเข้าใจบทบาทหน้าที่ของ รมว.พลังงานมากน้อยแค่ไหน เพราะแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพา ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)แล้ว มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม อีไอเอ อีเอชไอเอ ซึ่งการที่สั่งให้ยกเลิกโดยอ้างถึงเอ็มโอยูถือว่าลุแก่อำนาจ ไม่เป็นไปตามหลักการ

2.ท่านได้เห็นความสำคัญกับประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่ให้การยอมรับเสมอภาคเท่าเทียมกับกลุ่มคัดค้านหรือไม่ เพราะการดำเนินการให้ความเข้าใจกับกลุ่มประชาชนในพื้นที่ กฟผ. ได้ดำเนินตามที่รัฐบาลสั่งการ ซึ่งท่านก็ล้มแบบไม่สนใจใยดี ซึ่งท้ายที่สุดกลายเป็นความไม่น่าเชื่อถือของกระทรวงพลังงาน

3.การที่ให้ข่าวว่าในช่วง 5 ปีจากนี้ พื้นที่ภาคใต้ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ อยากทราบว่าท่านมีข้อมูลอะไรหรือเป็นนโยบายรายวัน ในประเด็นเรื่องความมั่นคงในการผลิต หากจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เมื่อกำลังการผลิตในภาคใต้ขยายตัวและวิกฤต จะต้องใช้กระบวนการก่อสร้างมากกว่า 5 ปี จะทำอย่างไร

4.กระบวนการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงมีสัดส่วนเกือบ 70% ซึ่งเป็นความเสี่ยง การใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าต้องมีความสมดุลย์ ซึ่งความมั่นคงและราคาไฟฟ้าที่ไม่เป็นภารต่อประชาชนส่วนใหญ่จะทำอย่างไร

“เราเชื่อว่าท่านเป็น รมว.ใหม่ และยังมีความสับสน แต่การตัดสินใจแบบนี้ส่งผลกับการแผนงานที่ดำเนินการของ กฟผ. มาก่อนหน้านี้ กว่าจะเสร็จแต่ละอย่างตองผ่านขั้นตอนมากมาย และใช้เวลาหลายปี แต่ท่านใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงในการเข้าไปเซ็นยินยอมกับกลุ่มคัดค้านส่งผลให้โรงไฟฟ้าต้องเลื่อนไปอีก และทุกอย่าง กฟผ. ก็ต้องมาเริ่มต้นทำใหม่ทั้งหมด วันนี้เราสับสนจึงต้องมาหา และยื่นหนังสือต้องการคำตอบจากรมว.พลังงาน ที่ไม่เข้าใจว่าได้รับคำสั่งหรือ มติ ครม. มาหรือเปล่า อย่างไรก็ตามไม่ได้มีปัญหาที่ รมว. ไม่ได้ลงมารับหนังสือด้วยตัวเอง เพราะเชื่อว่าอย่างไรก็ต้องถึงมือแน่นอน เพราะเรื่องโรงไฟฟ้าภาคใต้มีความสำคัญต่อประเทศชาติและประชาชน” นายพนมทวน กล่าว

นายพนมทวน กล่าวว่า เมื่อได้รับคำตอบจาก รมว.พลังงาน กฟผ.ก็จะมีการหารือกันจะต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งในวันเดียวกันจะมีการเข้าไปคุยกับส่วนกลาง และพนักงงานให้รับทราบถึงการเข้ามายื่นหนังสือครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าไม่ได้ตั้งใจให้มีปัญหากับกลุ่มคัดค้าน และรับฟังทุกคำชี้แจงมาเสมอ เนื่องจาก กฟผ. มีหน้าที่ปฏิบัตินโยบายรัฐบาลเพื่อดูแลประชาชน ซึ่งเอ็นจีโอก็ถือว่าเป็นประชาชนคนไทยเช่นเดียวกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน