สนค. เผยหลังโควิด คนจน กลับมามีงานทำแค่ 62% จี้รัฐ-เอกชน ออกมาตรการช่วยค่าครองชีพ พักหนี้กลุ่มเปราะบาง สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ลดเหลื่อมล้ำ

วันที่ 6 ก.ย.2566 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามผลกระทบจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า แม้จะมีการผ่อนคลายของสถานการณ์โควิด-19 ลงแล้ว แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกลับไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียมกันในแต่ละภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย กลุ่มเศรษฐกิจนอกระบบ และกลุ่มเปราะบาง

ซึ่งมีความสามารถในการปรับตัวต่อบริบท ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปได้ต่ำกว่ากลุ่มที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป เนื่องจากลักษณะงานรวมถึงลักษณะของระบบ ความคุ้มครองที่ไม่เอื้อต่อการปรับตัวหรือเปลี่ยนวิถีการทำงาน

รายงานเผย หลังโควิด ระบาด คนจน กลับมามีงานทำเพียง 62%

ทัั้งนี้ผลจากการศึกษา พบว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในประชากรแต่ละกลุ่ม ทำให้ความสามารถในการกลับมาทำงาน และการฟื้นตัวของรายได้ต่างกันด้วย บางกลุ่มสามารถฟื้นฟูกลับมาทำงานได้รวดเร็วรวมถึงรายได้กลับมาเท่าเดิมได้ จากความสามารถที่จะปรับตัวต่อการเปลี่ยนวิถีการทำงานที่แตกต่างกัน

อาทิ ความสามารถในการเปลี่ยนสถานที่ทำงานเพื่อรองรับการปิดเมือง การเข้าถึงเทคโนโลยี และความสามารถในการเปลี่ยนสายงาน เป็นต้น ซึ่งกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำจะมีความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนวิถีการทำงานที่ต่ำกว่าผู้มีรายได้สูง








Advertisement

ขณะเดียวกัน UNICEF ได้ทำการสำรวจการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย ในปี 2565 โดยแบ่งกลุ่มประชากรตามรายได้ออกเป็น 5 กลุ่ม เรียงลำดับตามฐานะทางเศรษกิจตั้งแต่กลุ่มที่ยากจนที่สุดจนถึงกลุ่มที่มีรายได้สูงที่สุด พบว่ากลุ่มที่ยากจนที่สุดและยากจน มีอัตราการกลับมาทำงานเพียง 62% และ 73% ตามลำดับ ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มรายได้สูงและรายได้สูงที่สุดที่มีอัตราการกลับมาทำงานมากกว่า 90 %

สะท้อนให้เห็นว่าผู้มีรายได้ต่ำกว่า ยังขาดความสามารถในการหางานทดแทนหรือประกอบอาชีพใหม่ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น และการฟื้นตัวของรายได้ ที่เป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่งที่สามารถสะท้อนความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละกลุ่ม

เมื่อพิจารณาสัดส่วนของผู้ที่มีระดับรายได้เท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นหลังจากการแพร่ระบาด พบว่าผู้ที่มีรายได้สูงมีแนวโน้ม ที่จะสามารถรักษาระดับรายได้ให้คงที่หรือมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนการแพร่ระบาด โดย 50 %ของกลุ่ม ที่มีรายได้ที่สูงที่สุด มีรายได้เท่าเดิมหรือมากกว่าก่อนการแพร่ระบาด

ในขณะที่มีเพียง28 %ของกลุ่มที่ยากจนที่สุดเท่านั้น ที่จะสามารถกลับมามีรายได้เท่าเดิมหรือมีรายได้เพิ่มขึ้นหลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยกว่ามีแนวโน้มที่จะมีการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ต่ำกว่าอย่างมาก

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน จำเป็นต้องออกนโยบายช่วยเหลือ ค่าครองชีพ เศรษฐกิจไทยยังฟื้นช้า ยังมีปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้ประชาชนหลายกลุ่มยังมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย และควรใช้งบประมาณในการพัฒนาและสนับสนุนเฉพาะกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น อาทิ กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก กลุ่มที่ประกอบอาชีพที่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ และกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น

ผลกระทบ คนจน หลังการระบาดของโควิด

นอกจากนี้ ต้องฟื้นฟูทุนและสินทรัพย์ในการประกอบอาชีพ โดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ และบริษัทเอกชน ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการและนโยบายสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและยาวนานจากประกอบอาชีพ

เช่น พักชำระหนี้ สนับสนุนเงินทุนหรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ พัฒนาทักษะแรงงานและผู้ประกอบการกลุ่มที่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ อาทิ แรงงานอาชีพอิสระ รวมถึงผู้ค้ารายเล็กและรายย่อย เพื่อให้แรงงานกลับเข้าสู่ระบบเกิดการจ้างงาน และธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการใหม่อีกครั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน