ภูมิธรรม สั่งลุย! ลดราคาสินค้า-บริการ กว่า 1.1 ล้านรายการ เป็นเวลา 3 เดือน เริ่ม 1 ต.ค.66 คาดช่วยลดค่าครองชีพประชาชน 3,000 ล้านบาท

วันที่ 2 ต.ค.2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกับประชุมร่วมกับผู้ประกอบการ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ผลิตสินค้า ผู้จำหน่าย ห้างโมเดิร์นเทรด ห้างท้องถิ่น ห้างขายอุปกรณ์ตกแต่งบ้านและอุปกรณ์ช่าง ผู้ให้บริการ ศูนย์บริการรถยนต์ บริษัทขนส่งสินค้าและพัสดุ และแพลตฟอร์มขายค้าสินค้าและบริการออนไลน์ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (Quick Win) ในการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาสให้กับประชาชน

กระทรวงพาณิชย์ หารือ ผู้ประกอบการเพื่อลดราคาสินค้า

โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการ 288 ราย ปรับลดราคาสินค้าและบริการรวมกว่า 1.1 ล้านรายการ เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.-31ธ.ค.2566

โดยแบ่งกลุ่มสินค้าที่ปรับลดราคาออกแบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่

1.หมวดสินค้า ลดสูงสุด 87% กว่า 11,546 รายการ เช่น

อาหารสำเร็จรูป ลด 87% ข้าวสาร ลด 50% รวม 26 รายการ เครื่องดื่ม ลด 58 % รวม 937 รายการ ซอสปรุงรส ลด 50% รวม 355 รายการ ของใช้ประจำวัน ลด 69% รวม 1472 รายการ

เครื่องใช้ไฟฟ้า ลด 74% รวม 517 รายการ ของตกแต่งบ้านและอุปกรณ์ช่าง ลด 80% รวม 6,253 รายการ ยาและเวชภัณฑ์ลด 66% รวม 48 รายการ และหมวดปัจจัยการเกษตรลดสูงสุด 40% ได้แก่ ปุ๋ย 144 รายการ เคมีเกษตร 39 รายการ และอาหารสัตว์ 15 รายการ

2.หมวดบริการ ลดสูงสุด 69% กว่า 14,130รายการ เช่น

ศูนย์บริการซ่อมและบำรุงรถยนต์ ลด 50% รวม 123 รายการ บริการทางการแพทย์ ลด 20% กว่า 140,000 รายการ การขนส่ง ลด 69% รวม 7 รายการ

3.หมวดการค้าออนไลน์ แจกโค้ดส่วนลดสูงสุด 80% ใช้สั่งอาหารและซื้อสินค้าออนไลน์ กว่า 1 ล้านรายการ เช่น แพลตฟอร์ม สั่งอาหาร ลด 60% การค้าอีคอมเมิร์ซ ลด80%

“ต้องขอขอบคุณผู้ประกอบการทุกรายที่ออกมาประกาศปรับลดราคาสินค้าและบริการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในครั้งนี้เป็นเวลา 3เดือน ถือเป็นการให้กำลังใจในการดำเนินชีวิตให้กับประชาชน คาดว่าการลดราคาครั้งนี้จะช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชนได้ประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท

พาณิชย์ ขอความร่วมมือลดราคาสินค้า 1.1 ล้านรายการ

รวมทั้งยังช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในช่วงปลายปีสำคัญช่วยสร้างสมดุลให้ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรม ในลักษณะ Win-win ทั้งประชาชนผู้บริโภค เกษตรกร และผู้ประกอบการไม่ว่าจะรายเล็กหรือ รายใหญ่

ส่วนจะมีการต่อเวลาปรับลดราคาสินค้าและบริการปีหน้าหรือไม่จะต้องวิเคราะห์สถานการณ์ด้านต้นทุนอีกครั้ง ครั้งนี้เป็นการดำเนินการแบบเร่งด่วนของรัฐบาล (Quick Win) ”
นายภูมิธรรม

สำหรับผู้ประกอบการจำนวน 288 ราย ที่ให้ความร่วมมือในการปรับลดราคาสินค้าและบริการ ประกอบด้วย ผู้ผลิตสินค้า ของกินของใช้จำเป็น รวม 88 ราย ผู้จำหน่าย ทั้งห้างโมเดิร์นเทรด ห้างท้องถิ่น และห้างขายอุปกรณ์ตกแต่งบ้านและอุปกรณ์ช่าง รวม 83 ราย ผู้ให้บริการ

เช่น โรงพยาบาล ศูนย์บริการรถยนต์ และบริษัทขนส่งสินค้า/พัสดุ รวม 110 ราย แพลตฟอร์ม 7 ราย อาทิ ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บิกซี ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เซเว่น อีเลฟเว่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า

นายภูมิธรรมกล่าวถึงการปรับลดราคาสินค้าและบริการ ที่เกิดจากมาตรการลดค่าไฟและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของรัฐบาลว่า จากการวิเคราะห์ของกรมการค้าภายในเบื้องต้นต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงยังไม่ได้ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าลดลงมากนัก แต่ที่ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือลดราคาสินค้าวันนี้เป็นการลดให้มากกว่าต้นทุนที่ลดลง ซึ่งครั้งนี้เป็นผลงานของกระทรวงพาณิชย์ที่ทำร่วมกันกับผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการจากทุกภาคส่วน สามารถเสนอแนะนโยบาย หรือ ปัญหาที่ต้องการให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือหรือแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค หรือมาตรการส่งเสริมอื่นๆ เพื่อหาจุดสมดุลในการอยู่ร่วมกันระหว่าง ผู้ผลิต ผู้บริโภค

ภูมิธรรม สั่งลุย! ลดราคาสินค้า-บริการ 1.1 ล้านรายการ 3 เดือน

ด้าน นายกองเอก เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทยเปิดเผยว่ารู้สึกยินดีที่รัฐบาลนี้ได้ไม่มองแค่ว่าขอความร่วมมือให้เอกชนเสียสละเพียงอย่างเดียวด้วยการปรับลดราคาสินค้า แต่รัฐบาลพร้อมที่จะเข้ามาช่วยภาคเอกชนแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วย และเปิดโอกาสให้เสนอแนะเรื่องต่างๆได้

ซึ่งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้ เดิมมองสิ้นปีนี้ว่าเศรษฐกิจจะโตได้ 2.5% แต่เมื่อพิจารณาจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว วีซ่าฟรีให้นักท่องเที่ยวจีน รวมทั้งการบิรโภคที่จะเพิ่มขึ้น เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าเป้าหมายเดิม

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักงานผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตมาม่ากล่าวถึงการปรับดลราคาสินค้าลงตามต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าไฟฟ้าที่ปรับลดลงว่า ปัจจุบันผู้ผลิตสินค้ามีต้นทุนจากหลายปัจจัย

ยกตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของมาม่า มีทั้งต้นทุน แป้งสาลี น้ำมันปาล์ม ค่าขนส่ง ต่าจ้างพนักงาน และยังมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเข้าไปขายในห้างสรรพสินค้าอีก หากผู้ประกอบการในส่วนต่างๆ ช่วยกันยอมปรับลดกำไรลงไปพร้อมกับผู้ผลิตก็เชื่อว่าราคาสินค้าจะปรับลดลงได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน