นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) ของไทย เดือนก.ย. 2566 เท่ากับ 108.02 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนสูงขึ้นเพียง 0.30% ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งสูงขึ้น 0.88%

โดยมีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้ หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.59% ตามการสูงขึ้นของราคา ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน และกลุ่มแก๊สโซฮอล์ (ยกเว้นกลุ่มดีเซลที่ราคาลดลงจากมาตรการตรึงราคาของภาครัฐ) ค่าโดยสารเครื่องบิน และรถสองแถว

สินค้าที่ราคาลดลง อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ รวมถึงผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงครั้งแรกในรอบ 23 เดือน โดยลดลง 0.10% ตามการลดลงของราคา เนื้อสุกร และไก่สด ผัก น้ำมันพืช และมะพร้าว ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า ไข่ไก่

ส่วนเงินเฟ้อเดือนก.ย. 2566 เทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า ลดลง 0.36% โดยหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.50% จากการลดลงของ ค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.16% สินค้าที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด ผักสด ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ เฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2566 สูงขึ้น 1.82%

“เงินเฟ้อไตรมาส 4 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากไตรมาส 3 คาดว่าเดือนต.ค. น่าจะต่ำกว่า 0.30% เนื่องจากสินค้าหมวดพลังงาน ซึ่งมีน้ำหนักในการคำนวนเงินเฟ้อมากถึง 14% และค่าไฟฟ้าที่มีน้ำหนัก 3.88% ราคาจะลดลงต่อเนื่องจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐ และอาจมีมาตรการลดราคาเบนซินด้วย รวมทั้งไตรมาสสุดท้ายยังมีมาตรการลดราคาสินค้ากว่า 1 ล้านรายการ ของกระทรวงพาณิชย์อีก ขณะที่ด้านแบงกชาติก็ขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ จึงได้ทบทวนและปรับลดประมาณกาณ์เงินเฟ้อปีนี้ลง จาก 1-2% หรือค่ากลางที่ 1.5% เป็น 1-1.75% หรือค่ากลางที่ 1.35%”

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ อัตราเงินเฟ้อทั้งปีอาจจะไม่เป็นไปตามเป้า อาทิ อุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นขึ้นจากการท่องเที่ยว การส่งออกที่กลับมาฟื้นตัว อุปทานน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตึงตัวจากกรณีที่ซาอุดีอาราเบีย ขยายเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมันไปจนถึงสิ้นปี ผลกระทบจากเอลนีโญ และเงินบาทที่อ่อนค่า

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผอ.สนค. กล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่องส่งผลให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้นจากต้นทุนน้ำมันที่แพงขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากมาตรการตรึงราคาดีเซล มีผลฉุดเงินเฟ้อให้ลดต่ำลงได้มากกว่า รวมทั้งจากการคาดการณ์พบว่าเงินบาทปีนี้น่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 34.52 บาท/เหรียญสหรัฐ แข็งกว่าปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 35.07/เหรียญสหรัฐ อีกด้วย

สำหรับอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยในเดือนก.ย. เหลือเพียง 0.3% นั้น ยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด ยังไม่มีปัญหาเรื่องกำลังซื้อ เพราะจากตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น จากค่าจ้างที่มีการปรับเพิ่มขึ้น 2.5% ขณะที่ การว่างงานก็ดีขึ้นอยู่ที่ 1% จะเห็นชัดเจนว่าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอัตราที่ยังน้อยกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งหากในปีหน้ามาตรการดิจิทัลวอลเล็ตจะมีผลบังคับใช้จะยิ่งทำให้รายได้ของประชาชนเพิ่มมากขึ้นอีกเฉลี่ย 11%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน