นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงแนวโน้มการส่งออกไทย ไตรมาส 4 ปี 2566 และคาดการณ์ ปี 2567 ว่ าคาดว่าการส่งออกไตรมาส 4 จะพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวก 6.8% มีมูลค่าเท่ากับ 70,502 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวติดลบ 3.2% เนื่องจากฐานการส่งออกไตรมาส 4 ปีก่อนค่อนข้างต่ำ

ขณะที่ ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง เงินเฟ้อมีอัตราชะลอตัว มาตรการความมั่นคงด้านอาหารของทั่วโลกทำให้ไทยส่งออกสินค้าเกษตรได้มากขึ้น รวมทั้งรัฐบาลยังมีมาตราการผลักดันการส่งออกในช่วงโค้งสุดท้ายของปี

ทั้งนี้ แม้ว่าไตรมาส 4 ปีนี้การส่งออกจะดีขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถประคองให้การส่งออกทั้งปีนี้ขยายตัวเป็นบวกได้ คาดว่าทั้งปียังคงหดตัว 2% มีมูลค่า 281,593 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง อุปสงค์สินค้าที่ลดลง ปัญหาเอลนีโญ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

นายธนวรรธน์ กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกในปี 2567 ว่า คาดว่าจะขยายตัว 3.6% มีมูลค่า 291,773 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าปีหน้าปริมาณการค้าโลกจะเติบโตมากขึ้น จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าคู่สำคัญที่มีสัญญานฟื้นตัว เช่น สหรัฐอเมริกา จะเริ่มฟื้นตัวช่วงครึ่งหลังของปี 2567 สหภาพยุโรปจะค่อยๆ ฟื้นปีหน้า จากการที่สามารถปรับตัวต่อผลกระทบที่เกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเคน ซึ่งช่วยลดปัญหาขาดแคลนพลังงานได้ในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังเดินหน้านโยบายผลักดันการส่งออกที่หลากหลาย อาทิ ใช้ประโยชน์จาก Soft Power Power เพื่อส่งออกสินค้าและบริการไทย การเร่งจัดทำเอฟทีเอเพิ่มเติม การยกระดับโลจิสติกส์ไทยเป็นฮับภูมิภาค

“ปีหน้าภาคการส่งออกจะขยายตัวเป็นบวกได้ 3.6% จะมีเม็ดเงินรายได้เข้ามาเติมในระบบเศรษฐกิจเพิ่มอีก 3 แสนล้านบาท ทำให้ภาคส่งออกกลับมาเป็นพระรองในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย รองจากภาคท่องเที่ยว และหากบวกรวมกับเม็ดเงินจากโครงการดิจิทัลวอลเลตแล้ว จะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยปี 2567 เติบโตได้ 4.5-5%”

นายธรวรรธน์ กล่าวว่า การส่งออกไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ทำการประเมินสถานการณ์ผลกระทบต่อการส่งออกไทย โดยแบ่งออกเป็น 3 กรณี

กรณีที่ 1 มีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด 30% คือ กรณีสงครามยืดเยื้อ ราว 3-6 เดือน คาดว่าจะทำให้มูลค่าส่งออกหายไป 369 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.3 หมื่นล้านบาท ฉุดการส่งออกหดตัว 0.1%








Advertisement

รองลงมาคือ กรณีที่ 2 สงครามยืดเยื้อจนปิดเส้นทางขนส่ง จะทำให้มูลค่าส่งออกหายไป 850 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3 หมื่นล้านบาท ฉุดการส่งออกหดตัว 0.3%

และกรณีที่ 3 สงครามขยายวงกว้างทั่วตะวันออกกลาง ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยที่สุด จะทำให้มูลค่าส่งออกหายไป 4,769 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.7 แสนล้านบาท ฉุดการส่งออกหดตัว 1.7%

อย่างไรก็ตาม หากสงครามอิสราเอลและฮามาสยืดเยื้อในวงจำกัดตามการคาดการณ์กรณีที่ 1 คาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะไม่พุ่งสูงขึ้นจากปีนี้ โดยจะเฉลี่ยอยู่ที่ 90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน