นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ว่า ได้แจ้งให้ชาวนาทราบว่ากระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมมาตรการบริหารจัดการข้าวเปลือกนาปี 2566/67 ที่กำลังจะออกสู่ตลาดช่วงเดือนพ.ย. 2566 ไว้พร้อมแล้ว โดยจะใช้งบประมาณจำนวน 69,043 ล้านบาท ในการดูแลเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกผ่าน 4 มาตรการหลัก คือ

1.มาตรการการเก็บสต๊อก สำหรับเกษตรกรและสหกรณ์เพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก เป้าหมาย 3 ล้านตัน โดยช่วย 1,500 บาท/ตัน ในกรณีเข้าร่วมกับสหกรณ์ สหกรณ์รับ 1,000 บาท/ตัน เกษตรกรรับ 500 บาท/ตัน เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1-5 เดือน และให้นำออกขายเมื่อข้าวราคาดี วงเงินรวม 10120.71 ล้านบาท

2.มาตรการเก็บสต๊อก สำหรับผู้ประกอบการโรงสี ข้าวถุง และผู้ส่งออก เป้าหมาย 10 ล้านตัน ช่วยชดเชยดอกเบี้ย 4% เก็บสต๊อก 2-6 เดือน วงเงินรวม 2,120 ล้านบาท

3.มาตรการสินเชื่อรวบรวมข้าวเปลือก เป้าหมาย 1 ล้านตัน โดยช่วยดอกเบี้ย 15 เดือน ในอัตรา 3.85% สหกรณ์เสียดอกเบี้ย 1% วงเงินรวม 481.25 ล้านบาท

และ 4.ช่วยลดต้นทุนการผลิต หรือค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือ ครัวเรือนละ 20,000 บาท วงเงินรวม 56,321.07 ล้านบาท

“ปีนี้เราอาจจะไม่มีมาตรการรับจำนำข้าว หรือมาตรการประกันรายได้ แต่ก็มีโครงการช่วยเหลือดูแลเสถียรภาพราคาข้าว 14 ล้านตัน ที่กำลังทยอยออก โดยให้เกษตรกร สหกรณ์ และให้ผู้ประกอบการช่วยเก็บสต๊อก โดยรัฐบาลจะเสริมสภาพคล่องให้ เพื่อทำให้ราคาข้าวเปลือก ไม่ตกต่ำ โดยเตรียมงบประมาณ 6.9 หมื่นล้านบาท ไปดูแลราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำ โดยจะเสนอกรอบวงเงินและมาตรการให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาอนุมัติ ในวันที่ 1 พ.ย. 2566 และเร่งนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติต่อไป”

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า เบื้องต้น ชาวนาพอใจกับมาตรการดูแลราคาข้าวเปลือกนาปี 2566/67 แต่ต้องรอดูว่ามาตรการที่ออกมาแก้ไขปัญหาตรงประเด็น และทำให้ชาวนาอยู่ดีมีสุขหรือไม่ หากแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ชาวนาจำเป็นต้องกลับมาคุยกับกระทรวงพาณิชย์อีกครั้ง

ทั้งนี้ ชาวนา ขอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยดูและเรื่องของแหล่งน้ำเพื่อรับมือกับปัญหาภัยแล้งจากสถานการณ์เอลนีโญ่ รวมทั้งเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิผลิตต่อไรสูง และมีระยะเก็บเกี่ยวสั้น ไม่เกิน 100 วัน โดยในระยะยาว ต้องการให้รัฐบาลมีการการจัดตั้งกองทุนเพื่อการเกษตร เพื่อเป็นหลักประกันในความเสี่ยง และสร้างความมั่นคงในอาชีพเกษตรกร ซึ่งสามารถกู้ยืมเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือเพื่อใช้เป็นทุนสำรองเมื่อภาคเกษตรประสบปัญหาในด้านต่างๆ

และจัดตั้งกองทุนสวัสดิการซาวนา เพื่อเป็นหลักประกันชีวิตให้กับเกษตรกรเหมือนหลักการประกันสังคมมีสิทธิรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย บุตรหลานเบิกค่าเล่าเรียนได้ มีบำนาญหลังการเสียชีวิตเป็นต้น โดยทั้งสองกองทุนให้ภาครัฐเป็นผู้ดูแลและสนับสนุนการจัดทำโครงการโดยอาศัยความสมัครใจของเกษตรกร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน