นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. ปรับประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ปี 2566 ติดลบ 4-4.5% จากประมาณการเดิมติดลบ 2.8-3.8% ด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรม ปี 2566 คาดติดลบ 2.5-3% จากประมาณการครั้งก่อนคาดว่าจะติดลบ 1.5-2.5% จากเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า และความขัดแย้งระหว่างประเทศยังยืดเยื้อ

ทั้งนี้ เป็นผลจากดัชนีเอ็มพีไอเดือนก.ย. 2566 อยู่ที่ระดับ 91.60 ลดลงช่วงเดียวกันปีก่อน 6.06% ส่วนไตรมาส 3/2566 ลดลงเฉลี่ย 6.19% ส่งผลให้ 9 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ระดับ 94.31 ลดลง 5.09% อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนก.ย.อยู่ที่ 58.02% และ 9 เดือนปีนี้อยู่ที่ 59.83% ส่วนไตรมาส 3/2566 อยู่ที่เฉลี่ย 58.01% ตามการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังชะลอตัว สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง จากความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังยืดเยื้อ

นอกจากนี้ การเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยภาพรวมเดือนต.ค.. 2566 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวังในช่วงขาลง” จากปัจจัยภายในประเทศชะลอตัวตามการลงทุนและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนของไทยหดตัวลง จากการนำเข้าสินค้าทุน รวมถึงพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง และยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ใหม่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ด้านดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม 3 เดือนข้างหน้า “ชะลอตัวในช่วงขาลง” จากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การอ่อนค่าของเงินบาท และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ยังไม่มีความชัดเจน ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศยังมีทิศทางชะลอตัว และส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง

สำหรับความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทในเดือนก.ย. 2566 อ่อนค่าลง 4.23% หรือประมาณ 1.50 บาท โดยมีเงินทุนไหลออกประเทศจากความกังวลการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้าจากโครงสร้างการส่งออกของภาคการผลิตไทย ไม่ตอบสนองความต้องการของโลกในยุคปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยว 9 เดือนของปีนี้อยู่ที่ 20 ล้านคน ขยายตัว 254.98% ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม อาทิ น้ำตาล การแปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก ผลิตภัณฑ์นม เบียร์ และเนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน