น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ขอปรับเพิ่มรายได้รวมการท่องเที่ยวปี 2567 เป็น 3.5 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายปัจจุบัน 3 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นการฟื้นตัว 100% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ด้วยการเพิ่มรายได้จากตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น เมื่อ ททท.พิจารณาสัดส่วนรายได้ระหว่างตลาดในประเทศและต่างประเทศแล้ว

เท่ากับว่าในปีหน้าจะต้องสร้างรายได้ตลาดต่างประเทศ 2.5 ล้านล้านบาท เพิ่มจากเป้าหมายปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท ปูสู่เป้าหมายรายได้ตลาดต่างประเทศ 3 ล้านล้านบาทในอนาคตตามนโยบาย ของ น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ส่วนรายได้ตลาดในประเทศ ยังคงเป้าเท่าเดิมที่ 1 ล้านล้านบาท

ส่วนปี 2566 ททท. ยังคงเป้าหมายรายได้รวมการท่องเที่ยวที่ 2.38 ล้านล้านบาท คิดเป็นการฟื้นตัว 80% เมื่อเทียบกับปี 2562 จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 25-28 ล้านคน ซึ่งวางเป้ารายได้ไว้ที่ 1.6 ล้านล้านบาท และผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 200 ล้านคน-ครั้ง ตั้งเป้ารายได้ 8 แสนล้านบาท

สำหรับสถิตินักท่องเที่ยวในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (1 ม.ค.-31 ต.ค.) ทำรายได้รวมการท่องเที่ยวสะสม 1,674,009 ล้านบาท แบ่งเป็นจากนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม 21,882,227 คน สร้างรายได้ 963,142 ล้านบาท ส่วนจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย (รวมนักท่องเที่ยวและนักทัศนาจร) สะสม 194,025,315 คน-ครั้ง สร้างรายได้ 710,866 ล้านบาท เฉพาะจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยถือว่าใกล้เคียงเป้าหมายตลอดปีนี้ จึงคาดการณ์ว่าสิ้นปีจะเห็นตัวเลข 225-230 ล้านคน-ครั้ง สูงกว่าเป้าหมายประมาณ 15%

“เมื่อดูรายได้รวมการท่องเที่ยวสะสม 10 เดือนแรก 1.67 ล้านล้านบาท นั่นหมายความว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้าย (พ.ย.-ธ.ค.) ต้องทำรายได้รวมอีก 7 แสนล้านบาท เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย 2.38 ล้านล้านบาท แม้จะเป็นเรื่องท้าทาย แต่ก็ต้องพยายามไปถึงเป้าหมายมากที่สุด โดยได้ปัจจัยนักท่องเที่ยวพักนานขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้การจับจ่ายในประเทศมากขึ้น”

น.ส.ฐาปนีย์ กล่าวว่า ด้วยมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาล ทำให้ ททท. เชื่อมั่นว่าจะช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะ 2 มิติหลัก ได้แก่ 1.มาตรการด้านอำนวยความสะดวกการเดินทาง (Ease of Travelling) ด้วยการ ทยอยประกาศมาตรการเกี่ยวกับการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) หรือ วีซ่า-ฟรี เพื่อการท่องเที่ยว เป็นการชั่วคราวแก่นักท่องเที่ยวตลาดเป้าหมาย รวม 3 เฟส เริ่มด้วยเฟส 1 นักท่องเที่ยวชาวจีนและคาซัคสถาน ให้วีซ่า-ฟรี พำนักในไทยได้สูงสุดไม่เกิน 30 วัน ระยะเวลา 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2566-29 ก.พ. 2567

ส่วนเฟส 2 นักท่องเที่ยวรัสเซีย ขยายวันพำนักเพิ่มเป็นสูงสุดไม่เกิน 90 วัน จากเดิม 30 วัน ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2566-30 เม.ย. 2567 และเฟส 3 นักท่องเที่ยวอินเดียและไต้หวัน ให้วีซ่า-ฟรี พำนักในไทยได้สูงสุดไม่เกิน 30 วัน ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย. 2566-10 พ.ค. 2567

2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว ไฮไลต์คือ การจัดกิจกรรมและอีเวนต์ โดยในวันที่ 10 พ.ย. นายกฯ เศรษฐา จะเป็นประธานแถลงข่าวเกี่ยวกับการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ด้านเฟสติวัล (Festival) ไฮไลต์คือ การจัดกิจกรรม “คัลเลอร์ฟูล แบ็งค็อก วินเทอร์ เฟสติวัล” (Colorful Bangkok Winter Festival) ในช่วง 2 เดือนสุดท้าย พ.ย.-ธ.ค. 2566 ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ โดย ททท. กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร (กทม.) และคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ จัด 5 งานหลัก ได้แก่ 1.กิจกรรมสีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง ปี 2566 2.กิจกรรม Vijit Chao Phraya 2023 3.กิจกรรม Amazing Thailand Passport Privileges 4.กิจกรรม Amazing Thailand Marathon Bangkok 2023 และ 5.Amazing Thailand Countdown 2024

“นายกฯ ให้ความสำคัญกับการยกระดับกิจกรรมและอีเวนต์ จากงานที่จัดกันระดับท้องถิ่น (Local) ไปสู่ระดับอินเตอร์เนชันแนลให้ได้ โดยในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. นี้ มีจำนวนกิจกรรมและอีเวนต์ระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับอินเตอร์ฯ รวมกว่า 3,000 กิจกรรมทั่วประเทศ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนเป็นผู้จัด”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน