เมื่อวันที่ 23 พ.ย. นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวในการสัมมนาวิเคราะห์ส่งออกปีมังกร 2567 สดใสหรืออ่อนแรง ว่า การส่งออกปี 2567 ไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้และเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 7 ด้านคือ 1.เงินเฟ้อในหลายประเทศยังตัวอยู่ในระดับสูง 2.อัตราดอกเบี้ยสูง 3.ปัญหาความขัดแย้งทางด้านภูมิศาสตร์ 4.สงครามการค้าระหว่าสหรัฐ โดยเฉพาะสงครามเทคโนโลยี 5.ปัญหาเอลนีโญ ทำให้ปริมาณผลผลิตทางด้านการเกษตรลดลง 6.กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่นำมาใช้บังคับการค้า เช่น มาตรการซีแบม กฎระเบียบที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR) และ 7.การนำเทคโนโลยี การใช้เอไอ (AI) ทดแทนแรงงาน

“ปัจจัยภายนอกมีความไม่แน่นอนสูงมาก เราต้องปรับตัว ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้น และยังมีปัจจัยภายใน เรื่องการขาดแคลนแรงงาน อัตราค่าแรงที่สูงขึ้น ราคาพลังงาน ค่าเงินบาท แต่ในปีหน้ายังมีสินค้าอีกหลายตัวที่เป็นดาวรุ่ง ทั้งสินค้าเกษตรและอาหาร ยานพาหนะ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ดังนั้นจึงประเมินว่าส่งออกไทยปี 2567 จะขยายตัวได้ 1-2%”

ด้านน.ส.อานันท์ชนก สกนธวัฒน์ ผอ.กองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สภาพัฒน์นฯ ประเมินอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีโลกปี 2567 จะขยายตัว 2.7% การค้าโลกขยายตัว 3.2% ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกของไทยปีหน้า ประเมินว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 3.8% จากการกลับมาขยายตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า และการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น

สอดคล้องกับสัญญาณการฟื้นตัวสะท้อนจากดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมสำหรับยอดคำสั่งซื้อใหม่และแนวโน้มขาขึ้นของวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ การขยายตัวการลงทุนภาคเอกชนตามยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องกับการดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย การขยายตัวต่อเนื่องของอุปโภคการภายในประเทศและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

ส่วนปัจจัยเสี่ยงคือ ความล่าช้าของงบประมาณในปีงบประมาณ 2567 รวมถึงข้อจำกัดการดำเนินการนโยบายด้านการคลังเพื่อรองรับความเสี่ยงในระยะต่อไป รวมถึงงบลงทุนและหนี้สิน และภาระหนี้สินครัวเรือน ภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและความเสี่ยงจากการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก

“มองว่า ปี 2567 ส่งออกจะกลับมาเป็นพระเอกได้แต่ต้องเร่งทำเอฟทีเอ การใช้ประโยชน์จากความร่วมมือในภูมิภาค เช่น อาร์เซ็ป สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ กฎระเบียบทางการค้า มาตรการสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำมาใช้ในหลายประเทศ เช่น มาตรการซีแบม”น.ส.อานันท์ชนกกล่าว

นายกิตติภูมิ พงษ์สุรพิพัฒน์ ผู้บริหารส่วนวิจัยต่างประเทศ ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) กล่าวว่า ในปีหน้าเศรษฐกิจเอเชียยังมีอัตราการเติบโตสูง ซึ่งตลาดแรกที่เราจะต้องสนใจนอกจากตลาดหลักอย่างจีน สหรัฐและยุโรป คือ ตลาดอินเดีย เพราะเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นเฉลี่ย 6.3% ยังเป็นเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก เป็นตลาดใหญ่มีประชากรมากกว่า 1.4 พันล้านคนผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ต้องติดตามปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในปี 2567 อย่างใกล้ชิด คือ สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวัน และปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ของเวียดนามส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของเงินเฟ้อและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2567 จะเกี่ยวข้องกับการเงินและปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยในด้านทางการเงิน จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ ซึ่งคาดว่าอัตราดอกเบี้ยและนโยบายของรัฐจะเริ่มปรับลดลงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ขณะที่ด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศยังคงอยู่ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับมาตรการทางการค้า โดยความขัดแย้งระหว่างประเทศยังไม่จบทั้งรัสเซีย ยูเครน อิสราเอล ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวนในทิศทางขาขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าการส่งออกไทยจะเป็นบวกแม้เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะทรงๆ จากปัญหาต่างๆ ซึ่งส่งออกไทย จะต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับโจทย์เศรษฐกิจโลกที่ยากขึ้นเพื่อลดผลกระทบและแสวงหาโอกาสใหม่ๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน