นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ผลกระทบต่อการค้าไทย หลังจากเดือนต.ค. 2566 สหภาพยุโรป (อียู) ได้บังคับใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและขจัดข้อได้เปรียบด้านราคาของสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงซึ่งนำเข้ามาจากประเทศที่มีมาตรฐานด้านก๊าซเรือนกระจกเข้มงวดน้อยกว่า โดยจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับสินค้านำเข้าประเภทที่มีการปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก ครอบคลุมสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และ ไฮโดรเจน

ทั้งนี้ แบ่งกรอบเวลาของมาตรการ ออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นระยะเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566-31 ธ.ค. 2568 ที่ผู้นำเข้าต้องรายงานข้อมูลรายไตรมาส อาทิ ปริมาณสินค้านำเข้า และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ ผู้นำเข้าต้องยื่นขอสถานะเป็น CBAM Declarant และ ต้องขึ้นทะเบียนในระบบ CBAM Registry ภายใน 31 ธ.ค. 2567
และ ระยะที่ 2 บังคับใช้มาตรการอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 ผู้นำเข้าจะต้องซื้อใบรับรอง CBAM (CBAM Certificate) ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะอ้างอิงตามราคาซื้อขายใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดสหภาพยุโรป (ราคาอยู่ที่ประมาณ 78.23 ยูโร/ตันคาร์บอน ณ วันที่ 2 ม.ค. 2567) ทั้งนี้ หลังจากปี 2569 อาจพิจารณาขยายขอบเขตไปยังสินค้าอื่นเพิ่มเติม อาทิ เคมีภัณฑ์อินทรีย์และโพลิเมอร์

ทั้งนี้ ในปี 2565 ไทยมีการส่งออกสินค้าภายใต้มาตรการ CBAM ไปสหภาพยุโรปมูลค่า 479 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 16,286 ล้านบาท คิดเป็น 2.12% ของมูลค่าการส่งออกของหมดของตลาดยุโรป โดยเหล็กและเหล็กกล้า มีมูลค่าส่งออกมากที่สุด อยู่ที่ 369.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาเป็นอลูมิเนียม มีมูลค่าส่งออก 109.70 ล้านดอลลาร์ และปุ๋ย มีมูลค่าส่งออก 0.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ ไทยไม่มีการส่งออกกลุ่มซีเมนต์ ไฟฟ้า และไฮโดรเจน ไปสหภาพยุโรป

“ผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งจัดทำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปสู่การดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ที่สำคัญเพื่อลดผลกระทบด้านการส่งออกจากมาตรการ CBAM”

อย่างไรก็ตาม มาตรการ CBAM เป็นหนึ่งในมาตรการที่สร้างแรงกดดันให้กับการค้าโลก เนื่องจากในอนาคตอาจมีแนวโน้มที่ประเทศอื่น อาทิ สหรัฐ แคนาดา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย จะใช้มาตรการในลักษณะเดียวกันกับ CBAM ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน