นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ในปี 2567 กรมธนารักษ์เตรียมปรับราคาประเมินที่ดินรอบใหม่ รวม 11 ล้านแปลงทั่วประเทศ จากทั้งหมด 33.4 ล้านแปลง เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ได้มีการประกาศปรับราคารอบใหม่ตั้งแต่ปี 2562 เพราะสถานการณ์โควิด-19 และเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งกรมต้องมาตรวจสอบดูว่าราคาซื้อขายจริงปัจจุบัน มีแตกต่างกันมากหรือไม่
ทั้งนี้ กรมจะทยอยปรับราคารายปี แบ่งเป็นปี 2567 จำนวน 11 ล้านแปลง ปี 2568 จำนวน 11 ล้านแปลง และ 2569 จำนวน 11 ล้านแปลง และประกาศเป็นราคาประเมินรอบใหม่ทั้งหมด 33.4 ล้านแปลง ในปี 2570 ให้มีผลบังคับใช้ในรอบ 4 ปี (2570-2573) จากราคาประเมินปี 2566 ที่ใช้ฐานของปี 2562 ที่คาดว่าแนวโน้มราคาประเมินในรอบปี 2566-2569 ทั่วประเทศ จะปรับเพิ่มราว 8% ส่วนราคาประเมินในพื้นที่กรุงเทพปรับเพิ่ม 2.76%
อย่างไรก็ดี ราคาประเมินในปี 2566 หากภาคเอกชนเห็นว่าเป็นราคาประเมินที่ต่ำ ก็เปิดให้ค้านได้ 2 ประเด็น คือ 1. ราคาประเมินไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และ 2. ขั้นตอนวิธีการทำประเมินราคายังไม่ถูกต้อง ซึ่งกฎหมายเปิดว่า ถ้าราคาแตกต่างเกิน 15% สามารถทบทวนใหม่ได้ โดยใน 11 ล้านแปลงที่จะปรับราคาประเมินใหม่ มีหลายพื้นที่ที่ราคาปรับไปแล้วเกิน 15%
“ในปี 2566 การปรับราคาประเมินเพื่อนำไปใช้ในการอ้างอิง และ เป็นฐานในการเสียค่าธรรมเนียม ซึ่งตอนนี้มีโครงการเชื่อมโยงข้อมูลกันระหว่างกรมธนารักษ์ กรมที่ดิน และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จากนี้ราคาประเมินเวลาใหม่ เมื่อออกก็จะไปอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน กรมที่ดินเอาไปใช้ได้ นำไปเป็นฐานการจัดเก็บภาษีที่ดินได้ กรมธนารักษ์ต้องเป็นกลางมากที่สุด เวลาอุทธรณ์จะสามารถตอบได้ ว่าตัวเลขคิดมาจากฐานข้อมูลอะไร”
นายจำเริญ กล่าวว่า เบื้องต้นแนวโน้มราคาประเมินยังใกล้เคียงกับของเดิม โดยเฉพาะพื้นที่ย่านเศรษฐกิจสำคัญ เช่น สีลม ที่ราคาประเมินล่าสุดตารางวาละล้านบาท ตามแนวโครงการลงทุนภาครัฐ เช่น รถไฟฟ้า ซึ่งกรมจะใช้ฐานราคาประเมินจากการซื้อขายหรือมีการโอนจริง ที่ไปจดทะเบียนจากกรมที่ดิน มาจัดทำฐานราคาประเมินตามหลักสากล เช่น ย่านสยาม ที่ราคาประเมินอยู่ที่ตาราวาละ 7 แสนบาท แต่มีการซื้อขายโอนจริงอยู่ราว 3.5 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลการซื้อขายเปลี่ยนมืออยู่ที่ปีละ 3.4 แสนแปลง จากช่วงก่อนโควิดที่ 7 แสนแปลง