นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจส.อ.ท. โพลเดือนม.ค. 2567 ภายใต้หัวข้อ “ดอกเบี้ยสูง หนี้พุ่ง อุตสาหกรรมไปต่ออย่างไร” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. 49.1% ค่อนข้างมีความกังวลกับการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะดำเนินนโยบายในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% เป็นระยะเวลานาน ซึ่งต้องเข้าใจว่าที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พยายามอย่างมากที่จะสร้างสมดุลในการบริหารนโยบายการเงินของประเทศ ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจและการเสริมสร้างเสถียรภาพของค่าเงินบาท

โดยผู้บริหาร 67.8% ให้ความเห็นว่าจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการขยายธุรกิจ หรือชะลอการลงทุนใหม่ ส่วนผู้บริหาร 61.3% เห็นว่าจะเกิดความเสี่ยงขาดสภาพคล่องทางการเงิน และการผิดนัดชำระหนี้ และผู้บริหาร 60.4% เห็นว่ากำลังซื้อสินค้าของประชาชนลดลงจากการระมัดระวังการใช้จ่าย

“ต้องยอมรับว่าส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก หรือ Spread ของธนาคารพาณิชยที่มีความห่างมากเกินไปเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศในอาเซียน ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องแบกรับต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ 80% จึงเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาออกมาตรการกำกับดูแลตรวจสอบสถาบันการเงินในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและสินเชื่อ รวมทั้งมีการประกาศกำหนดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Spread) ที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ”

ทั้งนี้ มีผู้บริหาร 20% เท่านั้นที่เสนอว่า ธปท. ควรปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของสถาบันการเงินเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งผู้บริหาร 74.3% เห็นควรว่าภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับเอสเอ็มอีผ่านสถาบันการเงินของรัฐและปรับลดเงื่อนไขการเข้าถึงสินเชื่อให้สะดวกยิ่งขึ้น ผู้บริหาร 52.2% ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบค่อนข้างมากกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนมากที่สุดของผู้ประกอบการในประเทศ และกำลังอยู่ในช่วงที่ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 และการต้องเร่งปรับธุรกิจเพื่อรับมือกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นเกือบทุกตัวในช่วงปีที่ผ่านมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน