ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ปลื้มสกัดสินค้าเกษตรเถื่อน ดันราคายางฉิว เพิ่มเงินในระบบเศรษฐกิจเฉียด 5 หมื่นล้าน

วันที่ 5 ก.พ.2567 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากมาตรการเอาจริงเอาจังกับการลุยปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายมาอย่างเข้มงวด ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดมีทิศทางปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว สับปะรด น้ำนมดิบ และสุกร

โดยเฉพาะยางพารา ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นเกิน 70 บาท/ก.ก. ถือว่าปรับเพิ่มขึ้นมากสุดรอบ 10 ปี และเพียงต้นปี 2567 มาถึงขณะนี้เม็ดเงินจากราคายางพาราที่เพิ่มขึ้น เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากถึง 4-5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ช่วง 4 เดือนตั้งแต่ต.ค.2566 มาถึง 5 ก.พ.2567 ราคายางแผ่นดิบ ราคาสูงขึ้นประมาณ 20.71 บาท/กิโลกรัม (ก.ก.) โดยราคา ณ วันที่ 5 ก.พ.2567 อยู่ที่ 70.21 บาท/ก.ก. สูงขึ้นประมาณ 40% จากต.ค.2566 ที่ราคา 49.50 บาท/ก.ก. ส่วนราคายางแผ่นรมควัน เพิ่มขึ้น 20.76 บาท/ก.ก. โดยราคา ณ วันที่ 5 ก.พ.2567 อยู่ที่ 73.01 บาท/ก.ก. สูงขึ้นประมาณ 40% จากต.ค.2566 ที่ราคา 52.25 บาท/ก.ก. ซึ่งทุกๆการเพิ่มขึ้นของราคายางพารา 1 บาท จะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท

การปรับเพิ่มขึ้นราคายางพาราในช่วงไม่กี่เดือนที่รัฐบาลเข้ามา ยังไม่ได้ใช้เงินงบประมาณอุดหนุนราคายางพาราสักบาทเดียว แต่ราคายางพาราที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เกิดจากมาตรการของรัฐบาล ที่สกัดการลักลอบนำเข้ายางเถื่อนและมาตรการกระตุ้นการใช้ยางพาราในประเทศ รวมไปถึงการบริหารจัดการข้อมูลยางพารา และความต้องการ และแนวโน้มราคายางพารายังคงทรงตัวเป็นขาขึ้น รัฐบาลนี้เข้ามายังไม่ได้ใช้เงินแม้แต่บาทเดียว ในการอุ้มราคายางพารา แต่ราคายางพารายังเริ่มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากนโยบายจากภาครัฐในการปราบปรามและตรวจสอบการลักลอบการนำเข้ายางพาราและสินค้าเกษตรผิดกฎหมายจากเพื่อนบ้าน ไม่ให้ทะลักเข้ามาจากต่างประเทศ ยังเป็นผลจากมาตรการการสนับสนุนการใช้ยางพาราในประเทศรวมทั้งจากความต้องการของตลาด ภาวะฟื้นตัวของอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์

ขณะนี้อยู่ระหว่างการสกัดยางพารานำเข้าจากเพื่อบ้านซึ่งที่ผ่านมาถือว่า ก้าวหน้าในระดับหนึ่ง แต่หลังจากมีการสกัดยางพาราลักลอบนำเข้าจากเพื่อนบ้าน ยางพาราจากเพื่อนบ้านก็เปลี่ยนเป็นยางพาราขอผ่านแดน หรือ ยางทรานสิต จากเพื่อนบ้านไปยังประเทศปลายทาง แต่ผ่านพื้นดินของไทยแบบฟรีๆ ไม่ต้องเสียภาษี เรื่องนี้กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบกับยางพาราของเกษตรกรไทยปัจจุบันมีกฏหมาย 2 ฉบับที่เกี่ยวข้อง กฏหมายของกรมวิชาการเกษตรที่พรบ.ควบคุมพืชห้ามนำเข้ายางพารา เว้นซะแต่เป็นสินค้าก็ไปเข้ากับกฏหมายของกรมศุลกากร ก็สามารถผ่านได้โดยไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งยางพาราเพื่อนบ้านถูกกว่าไทยมากเกือบเท่าตัว








Advertisement

“ที่ผ่านมาการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ก็ขอความร่วมมือผู้ประกอบการในประเทศไม่ให้ซื้อยางเถื่อน ผู้ประกอบการก็รับปาก ซึ่งทั้งหมด 4 เดือนมูลค่ายางเพิ่มเงินหมุนเวีนในเศรษฐกิจ 4-5 หมื่นล้านบาท ถือเป็นผลของความพยายามของกระทรวงเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสกัดสินค้าผิดกฏหมายที่เข้ามากระทบต่อราคาสินค้าของเกษตรกรในประเทศ”

ด้านนายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) กล่าวว่า สำหรับราคายางพาราที่ปรับเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 72 บาท/ก.ก. ถือเป็นราคาที่เกษตรกรไทยขายได้เพิ่มขึ้น หากนับจากสิ้นปี 2566 ราคายางอยู่ที่ประมาณ 50 บาท/ก.ก. ดังนั้นไม่ถึง 1 เดือนราคายางพาราปรับเพิ่มขึ้น 20 บาท/ก.ก. หากเทียบผลผลิตที่ออกมาประมาณ 5 แสนตัน จะทำให้ราคายางพาราทั้งระบบที่หมุนเวียนในมือเกษตรกรเพิ่มขึ้น 40,000 ล้านบาท

” หากประเมินทั้งปี 2567 จากมาตรการของภาครัฐ ทั้งเรื่องการใช้ยางพาราในประเทศ โดยการเพิ่มมูลค่ายางพารา ในการร่วมกับเอกชน ในการผลิตล้อยางรถยนต์ ท็อปเปอร์ ยางรถมอเตอร์ไซต์ รองเท้าบูท และหมอนยางพารา ทำเป็นยี่ห้อของไทยผลิตเพื่อใช้ในประเทศ และส่งออก หากมีส่วนของกำไรเกิดขึ้น ก็จะมีการแบ่งปันผลกำไร ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางพาราเพิ่มขึ้น

จากมาตรการเพิ่มมูลค่าให้ยางพารา และการสกัดยางพาราเถื่อนจากเพื่อนบ้าน ส่งผลทำให้ผลผลิตยางในประเทศลดลง ราคายางพารามีโอกาสขึ้นทดสอบเลข 3 หลัก จากขณะนี้ราคายางพาราอยู่ที่ 72 บาท/ก.ก. ถือว่าสูงสุดในรอบ 10 ปี และหากราคายางพาราขึ้นทดสอบเลข 3 หลักเมื่อไหร่ จากผลผลิตยางพาราทั้งปี2567 ที่ประมาณ 5 ล้านตัน มูลค่ายางพาราจะเพิ่มขึ้น 100% หรือมูลค่ารวมจะเพิ่มเป็น 4 แสนล้านบาท จากปี 2566 ที่มูลค่ายางพาราประมาณ 2 แสนล้านบาท “

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน