ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธาน ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน พื้นที่ทะเลอ่าวไทย ประจำปี 2567” ณ ท่าเทียบเรือประมงชุมพร ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ว่า กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนต่อเนื่องมาหลายปี ครอบคลุมพื้นที่บริเวณอ่าวไทย

ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการในพื้นที่อ่าวไทยตอนกลาง 2 ช่วงระยะเวลา ได้แก่ ระหว่างวันที่ 15 ก.พ.-15 พ.ค. 2567 ตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึงอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และระหว่างวันที่ 16 พ.ค.-14 มิ.ย. 2567 ในบริเวณอาณาเขตตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลางและเขตต่อเนื่องตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวประจวบ

และบริเวณพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก 2 ช่วงระยะเวลา ได้แก่ ระหว่างวันที่ 15 มิ.ย.-15 ส.ค. 2567 ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในฝั่งตะวันตกของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร และระหว่างวันที่ 1 ส.ค.-30 ก.ย. 2567 ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในด้านเหนือของจังหวัดสมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี เพื่อฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำฝั่งทะเลอ่าวไทยซึ่งเป็นแหล่งวางไข่และอาศัยเลี้ยงตัวอ่อนของสัตว์น้ำหลายชนิด

ทั้งนี้ ปี 2566 พบว่าปริมาณการจับปลาทูในอ่าวไทยมีปริมาณมากถึง 41,310 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,316.57 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 16% หรือ 5,602 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 659.08 ล้านบาท จากปี 2565 ปริมาณ 35,708 ตัน มูลค่า 2,657.49 ล้านบาท ถึง 5,602 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 659.08 ล้านบาท และพ่อแม่ปลาทูมีความสมบูรณ์ในอัตราที่สูงเกือบ 100% อีกทั้งยังพบการแพร่กระจายของลูกปลาทู-ปลาลัง และสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดอื่นในพื้นที่ที่ประกาศใช้มาตรการ

นอกจากนี้ มีการมอบหนังสือรับรองเพื่อประกอบการยื่นขอจดทะเบียนเรือไทย สำหรับเรือประมงพื้นบ้าน 7 ราย มอบโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ จำนวน 50 ราย และร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ จำนวน 654,000 ตัว ประกอบด้วย กุ้งแชบ๊วย 500,000 ตัว กุ้งกุลาดำ 150,000 ตัว ปลากระบอกดำ 3,000 ตัว และปลากะพงขาว 1,000 ตัว เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์และเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน