นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน (พด.) เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินขานรับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ แก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร เพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 จากการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รณรงค์เกษตรกรเลือกใช้วิธีการจัดการกับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ถูกต้อง เหมาะสมกับพื้นที่ เปลี่ยนมาใช้วิธีไถกลบและทำปุ๋ยหมักแทนการเผา เพื่อหยุดยั้งปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาวัสดุทางการเกษตร ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

ส่งเสริมให้เกษตรกรทำปุ๋ยหมักจากวัสดุเหลือใช้ในไร่นา อาทิ ตอซังข้าว ฟางข้าว ข้าวโพด ตออ้อย และอื่นๆ ซึ่งเศษวัสดุการเกษตรเหล่านี้ มีส่วนประกอบของธาตุอาหารพืชและอินทรียวัตถุที่เป็นประโยชน์ต่อพืชเพิ่มธาตุอาหารให้กับดิน ช่วยปรับปรุงโครงสร้างดิน ก่อนที่จะทำการเพาะปลูกในครั้งถัดไป ซึ่งพบว่า ประเทศไทยภายหลังการเก็บเกี่ยวพืช จะมีวัสดุเหลือใช้ในแปลงเกษตร เช่น ตอซังและฟางข้าว 26.81 ล้านตัน ตอซังและข้าวโพด 6.83 ล้านตัน ตออ้อยและเศษใบอ้อย 9.75 ล้านตัน
ซึ่งเกษตรกรบางส่วนยังเผาอยู่ จากการประเมินการเผาทิ้งเศษเหลือจากตอซังข้าวและฟางข้าว ทำให้ดินสูญเสียธาตุอาหารหลักที่เป็นไนโตรเจนถึง 90 ล้านกิโลกรัม ฟอสฟอรัส 20 ล้านกิโลกรัม และโพแทสเซียม 260 ล้านกิโลกรัม ยังไม่นับการสูญเสียธาตุอาหารรอง เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม และซัลเฟอร์ อีกกว่า 150 ล้านกิโลกรัมต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่าห้าพันล้านบาท

ดังนั้น กรมพัฒนาที่ดินจึงได้ส่งเสริมและแนะนำให้เกษตรกรไถกลบตอซัง และนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตเป็นปุ๋ยหมัก โดยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับหมอดินอาสาและเกษตร พร้อมทั้งสนับสนุน สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 สำหรับทำปุ๋ยหมัก และสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 สำหรับทำน้ำหมักชีวภาพช่วยเร่งการย่อยสลายและเพิ่มธาตุอาหารพืช

นายอาทิตย์ ศุขเกษม รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านวิชาการ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมพัฒนาที่ดินมีนวัตกรรมจุลินทรีย์ สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 เร่งการย่อยเศษพืชตอซังกลายเป็นปุ๋ยหมักได้เร็วขึ้น ซึ่งทำได้ง่าย โดยนำฟางข้าวผสมกับมูลสัตว์ เช่น มูลวัว มูลไก่ เป็นต้น หรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรต่างๆ โดยมีสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ช่วยย่อย จนได้มาเป็น “ปุ๋ยหมักคุณภาพ” ที่จะให้อินทรียวัตถุและธาตุอาหารในดิน ให้พืชนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการผลิตปุ๋ยหมักไว้ใช้เองจะช่วยปรับปรุงบำรุงดินให้ร่วนซุยช่วยอุ้มน้ำรักษาความชื้น ช่วยในการดูดซับธาตุอาหารพืชได้มากขึ้นและทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ พืชสามารถดูดซึมอาหารจากดินได้ดี ยังช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมี และลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน