นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2566 และภาพรวมปี 2566 ว่า หนี้สินครัวเรือนล่าสุดในไตรมาส 3/2566 มีมูลค่ารวม 16.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.3% ชะลอตัวลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี อยู่ที่ 90.9% ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งครัวเรือนชะลอการก่อหนี้ในเกือบทุกประเภทสินเชื่อ โดยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ขยายตัว 4.6% สินเชื่อยานยนต์ขยายตัว 0.2% ยกเว้นสินเชื่อส่วนบุคคล

ด้านคุณภาพสินเชื่อด้อยลงทุกประเภทสินเชื่อ โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีมูลค่า 1.52 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมเป็น 2.79% เพิ่มขึ้นจาก 2.71% ในไตรมาสก่อน

อย่างไรก็ตาม หนี้สินครัวเรือนมีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ที่สะท้อนการขาดสภาพคล่องของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ขยายตัวสูงถึง 40.2% เนื่องจากเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลที่อนุมัติเร็วและง่าย แต่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่น จึงเป็นทางเลือกสุดท้ายในการกู้ยืมเพื่อเติมสภาพคล่อง

“ต้องใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องและให้ความสำคัญกับความสามารถในการจ่ายหนี้ ก่อนที่จะเข้าถึงสินเชื่อ และต้องมานั่งดูว่าถ้าธนาคารพาณิชย์ที่เป็นคนปล่อยสินเชื่อ ตรวจสอบแล้วพบว่าเห็นสัญญาณผิดชำระหนี้ของลูกหนี้ ต้องเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ก่อน ให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ก่อนที่จะเอารถไปเป็นประกันเพื่อเอาสินเชื่อออกมา”

รวมทั้งการติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยต้องติดตามความสามารถในการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ ซึ่งจากการลงทะเบียนเข้าร่วมแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ถึงวันที่ 18 ก.พ. 2567 มีจำนวนมากถึง 1.43 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้รวม 10,261 ล้านบาท และอาจต้องผ่อนปรนเงื่อนไขการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดอุปสรรคการให้กู้ยืมกับกลุ่มลูกหนี้นอกระบบควบคู่กับการติดตามความสามารถในการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง

นายดนุชา กล่าวว่า สถานการณ์แรงงานไตรมาส 4/2566 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 40.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 1.7% โดยภาคเกษตร 12.3 ล้านคน ขยายตัว 1.0% ส่วนการจ้างงานในสาขานอกภาคเกษตรกรรม 27.9 ล้านคน ขยายตัว 2.0%

ด้านชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 42.6 และ 46.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์สอดคล้องกับจำนวนผู้ทำงานต่ำระดับและผู้เสมือนว่างงานที่ลดลง 23.6% และ 6.8% ตามลำดับ
ขณะที่ค่าจ้างแรงงานภาพรวมและภาคเอกชนอยู่ที่ 14,095 และ 15,382 บาทต่อคนต่อเดือน เพิ่มขึ้น 0.2% และ 0.9% ตามลำดับ อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.81% หรือ มีผู้ว่างงาน 3.3 แสนคน ลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน และไม่เคยทำงานมาก่อน รวมทั้งลดลงทุกระดับการศึกษา

“ภาพรวมการจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่ค่าจ้างอาจจะลดลงเล็กน้อย ดังนั้น ภาครัฐต้องมีมาตรการไปช่วยเพิ่มความสามารถตัวแรงงานให้มีทักษะสูงขึ้น เพื่อให้ได้รับค่าจ้างมากขึ้น ซึ่งยอมรับว่ามาตรการ up skill / reskill ที่ผ่านมาอาจจะยังไม่ได้ผลในทางปฏิบัติมากนัก เพราะอาจมีปัญหาในเรื่องการเข้าถึง จึงต้องไปนั่งคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสถาบันการศึกษา เพื่อหาช่องทางให้แรงงานให้กลับเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาระยะสั้น เพื่อกลับออกมาในตลาดงานและมีทักษะสูงขึ้น”

สำหรับภาพรวมทั้งปี 2566 อัตราการมีงานทำอยู่ที่ 98.68% เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ขณะที่การว่างงานโดยรวมอยู่ที่ 0.98% ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับปี 2562 โดยประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่ 1.ความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต 2.ปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในระดับ ปวช. และ ปวส. และ 3.การพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับการใช้ AI ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน