น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ยานยนต์ไทย สู่…ท็อปเทนโลก” ว่า จากข้อมูลสถิติชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยถึงจุดอิ่มตัว (mature stage) แล้ว เห็นได้จากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตยานยนต์ของไทยค่อนข้างคงที่ ประมาณ 2 ล้านคันบวกลบเล็กน้อย แบ่งเป็นขายในประเทศประมาณ 1 ล้านคัน และส่งออกประมาณ 1 ล้านคัน โดยล่าสุดปี 2565 ไทยมีการผลิตยานยนต์รวม 1.9 ล้านคัน เป็นอันดับที่ 10 ของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียน มีมูลค่าการส่งออกรวมประมาณ 1.07 ล้านล้านบาท

นอกจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะไม่เติบโต เป็นเหมือนเสือหลับแล้ว ยังต้องเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี เช่น การขับขี่อัตโนมัติ รวมทั้ง การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั่วโลกมีเป้าหมายร่วมกันที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งนำมาของกระแสรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) นับเป็นความท้าทายที่ส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในอนาคต

โดยมองว่าปัจจุบันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและของโลก และคงไม่มีใครปฏิเสธว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับทิศทางตลาดโลก ด้วยความไม่แน่นอน หรือ ความแปรปรวนของปัจจัยต่างๆ ทำให้การกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย จึงไม่ใช่เรื่องง่าย การที่จะปลุกให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่เป็นเสือหลับให้ตื่นขึ้น เติบโต และกลับมายืนฉายแสงในภูมิภาคได้เหมือนในอดีต ต้องมียุทธศาสตร์ทั้งรุกและรับ

“เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะสามารถกลับมาเป็นเสือที่ตื่นและผงาดอยู่ในท็อปเทนของฐานการผลิตยานยนต์ และยานยนต์ไฟฟ้าของโลก พร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการรักษาโลกที่สวยงามใบนี้ พร้อมส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังต่อไปแน่นอน”

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า เราต้องลุยไปข้างหน้าในขณะที่ยังต้องมีความยืดหยุ่นปราดเปรียวพร้อมปรับตัว ก้าวย่างต้องมีจังหวะที่พอเหมาะพอดี ไม่ช้าจนตกเวทีตามกระแสการเปลี่ยนแปลงไม่ทันแต่ก็ไม่เร็วจนหลุดโค้ง ต้องมองทั้งระบบให้ครอบคลุมทุกประเภท ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถยนต์เชิงพาณิชย์ รถจักรยานยนต์ ในด้านการผลิตต้องครอบคลุมตั้งแต่ ตัวแบตเตอรี่และระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ ด้านระบบนิเวศ ก็ต้องครอบคลุมระบบชาร์จ สถานีชาร์จ มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องส่งเสริมทั้งในด้านฝั่งการผลิตหรือซัพพลาย และ ด้านตลาดผู้ซื้อ หรือดีมานด์ เป็นต้น

ดังนั้น ไทยจะรักษาความเป็นฐานการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ผสมผสานในหลายด้านทั้งยุทธศาสตร์ในเชิงรุก คือ การใช้จุดแข็งที่ไทยมีในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ในภูมิภาค เพื่อเร่งปรับตัวก้าวให้ทันกับกระแสของของยานยนต์ไฟฟ้า ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งในไทยและในต่างประเทศ เพื่อไม่ให้ไทยตกจากเวทีโลก

โดยยุทธศาสตร์ในเชิงรับ เช่น การส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมให้สามารถยืนหยัด (Last Man Standing) ในการพัฒนายานยนต์เดิมให้สะอาดและประหยัดขึ้น รองรับกรณีหากทิศทางของยานยนต์ไฟฟ้าไม่ได้เติบโตอย่างที่คาดการณ์กันไว้

ยุทธศาสตร์ที่จะเติบโตในตลาดใหม่ เช่น การส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ประเภทเชิงพาณิชย์ ซึ่งยังไม่มีผู้เล่นในตลาดโลกมากนัก ถือเป็นโอกาสของผู้ผลิตของไทยที่ยกระดับการเป็นผู้ผลิตและการทำตลาด สำหรับทั้งตลาดในประเทศและการส่งออก เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน