นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนก.พ. 2567 อยู่ที่ระดับ 99.27 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.84% มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 59.77% ส่งผลให้ดัชนีเอ็มพีไอ 2 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวเฉลี่ย 2.88% สาเหตุหลักจากการผลิตยานยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 7 ซึ่งเป็นการหดตัวจากภายในประเทศ เพราะเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้าจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น

“ดัชนีเอ็มพีไอ หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักที่หดตัวต่อเนื่องและมีน้ำหนักในการคำนวณดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยภาพรวมการผลิตเดือนก.พ.2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.28% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 สาเหตุหลักมาจากการผลิตเพื่อขายในประเทศ โดยมีจำนวนการผลิต 46,928 คัน ลดลง 26.37% จากปีก่อนผลิตไดั 63,732 คัน ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกอยู่ที่ 86,762 คัน ลดลง 9.25% จากปีก่อนผลิตได้ 95,612 คัน”นาง วรวรรณ กล่าว

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) เดือนก.พ. 2567 ขยายตัว 1.80% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 รวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยใน 2 เดือนแรกของปี 2567 มีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสม อยู่ที่ 6.38 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 50% ซึ่งการกลับมาขยายตัวดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลทำให้ดัชนีเอ็มพีไอหลังจากนี้ปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนมี.ค. 2567 ส่งสัญญาณในทิศทางดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากภาพรวมการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ในระยะนี้ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศยังคงต้องเฝ้าระวังในตลาดสหรัฐ และติดตามภาวะถดถอยในภาคการผลิตญี่ปุ่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน