นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ เป็นประธาน ได้เห็นชอบส่งเสริมการลงทุนใน “กิจการจัดงานมหกรรมดนตรี กีฬา และเทศกาลนานาชาติ” เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางในการจัดงานระดับโลก (World Class Events) และเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยวของภูมิภาค (Tourism Hub)

โดยการปลดล็อกอุปสรรคของการจัดงานขนาดใหญ่ เช่น เรื่องวีซ่าและใบอนุญาตทำงานของศิลปินและทีมงานต่างชาติ เรื่องภาระภาษีของอุปกรณ์จัดการแสดงที่อาจนำเข้ามาใช้เพียงชั่วคราวแล้วส่งกลับออกไป เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้จัดงานระดับโลก ให้สามารถเข้ามาจัดงานแสดงในประเทศไทยได้ง่ายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมหกรรมคอนเสิร์ต หรืองานเทศกาลนานาชาติต่างๆ ช่วยดึงดูดการท่องเที่ยวและเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศตามเป้าหมายของรัฐบาล

สำหรับหลักเกณฑ์การขอรับการส่งเสริมในกิจการจัดงานมหกรรมดนตรี กีฬา และเทศกาลนานาชาติจะต้องเป็นงานมหกรรมขนาดใหญ่ที่มีเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการจัดงานไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทต่องาน โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดงาน พร้อมทั้งการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับศิลปินและบุคลากรต่างชาติที่เข้ามาจัดงาน ผ่านศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (One Stop Service) ที่บีโอไอดำเนินการร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกระทรวงแรงงาน

“หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของรัฐบาล คือการยกระดับประเทศไทยให้เป็นแหล่งจัดงานใหญ่ระดับโลก เพื่อเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก การเปิดให้การส่งเสริมกิจการจัดงานมหกรรมดนตรี กีฬา และเทศกาลนานาชาติครั้งนี้ จะช่วยตอกย้ำศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยที่จะเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวและศูนย์กลางด้านความบันเทิงของภูมิภาค ดึงเม็ดเงินจากการใช้จ่ายของผู้ร่วมงานทั้งในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีอำนาจใช้จ่ายสูง อีกทั้งยังช่วยหนุนธุรกิจบริการอื่น ๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะโรงแรม ร้านอาหาร สินค้าท้องถิ่น และบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวให้ได้รับประโยชน์ไปด้วยกัน” นายนฤตม์ กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ปรับปรุง “กิจการในกลุ่มแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB)” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องจักรระบบอัตโนมัติ และดิจิทัล รองรับกระแสการโยกย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่จากแรงกดดันของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ของโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างอิเล็กทรอนิกส์

โดยได้เพิ่มเติมบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมในกลุ่มแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ให้ครอบคลุมกิจการสนับสนุนที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานของ PCB ได้แก่ กิจการสนับสนุนการผลิต PCB ได้แก่ Lamination, Drilling, Plating และ Routing กิจการผลิตวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิต PCB ได้แก่ Copper Clad Laminate (CCL), Flexible CCL (FCCL) และ Prepreg และกิจการผลิตวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นอื่นๆ สำหรับการผลิต PCB เช่น Dry Film, Transfer Film, Backup Board เป็นต้น จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบที่นำมาผลิตเพื่อส่งออก และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี โดยจำแนกตามความสำคัญของวัตถุดิบ เทคโนโลยี และขนาดการลงทุน

“การปรับปรุงกิจการในกลุ่มแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์หรือ PCB ครั้งนี้ มุ่งรองรับกระแสการโยกย้ายเงินลงทุนครั้งใหญ่ของโลกในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยเพิ่มเติมการส่งเสริมอุตสาหกรรม PCB ให้ครอบคลุมตลอดซัพพลายเชน ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ เพื่อนำไปสู่การสร้างคลัสเตอร์ PCB ให้เป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถเติบโตไปพร้อมกันด้วย ปัจจุบันประเทศไทยได้ขึ้นมาเป็นฐานการผลิต PCB อันดับ 1 ของอาเซียน หากไทยสามารถช่วงชิงโอกาสในการสร้างซัพพลายเชนของการผลิต PCB ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างครบวงจร ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำในตลาดโลกได้ในอนาคต” นายนฤตม์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 ที่ผ่านมามีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม PCB แล้วประมาณ 40 บริษัท โดยเฉพาะจากประเทศจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น มีมูลค่าลงทุนรวมกันกว่า 1 แสนล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน