นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมการบินโลกและการท่องเที่ยวของประเทศไทยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ได้มีการสรุปรายได้สายการบินทั่วโลกปี 2566 อยู่ที่ 107% ของปี 2562 (ปีก่อนสถานการณ์โควิด) และคาดการณ์ว่าในระดับอุตสาหกรรมการบินโลกและระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะฟื้นกลับมาในปี 2567

และถือเป็นภูมิภาคที่มีการคาดการณ์อัตราการเติบโตสูงสุด โดยจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 2,536 ล้านคนในปี 2567-2583 สำหรับประเทศไทย จากสถิติผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินในประเทศทั้งหมด ในปี 2566 จะอยู่ที่ 74% ของปี 2562 โดยการเดินทางภายใน ประเทศอยู่ที่ 80% และการเดินทางระหว่างประเทศอยู่ที่ 68% ของปี 2562 โดยมีปัจจัยที่สำคัญซึ่งเป็นแรงผลักดันจากภาครัฐบาล เพื่อกระตุ้นและดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มในไทย อาทิ การยกเว้นวีซ่าให้กับบางสัญชาติ การส่งเสริมการเที่ยวเมืองรอง และการท่องเที่ยวเชิงกิจกรรม เป็นต้น

สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สในปี 2567 คาดการณ์จำนวนเที่ยวบิน 48,000 เที่ยวบิน อัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยที่ 85% เป็นจำนวนผู้โดยสาร 4.5 ล้านคน และรายได้ผู้โดยสาร 17,800 ล้านบาท จากปีที่แล้วมีรายได้กว่า 15,000 ล้านบาท โดยราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวบินประมาณ 3,900 บาทต่อที่นั่ง และมีแนวโน้มการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในปี 2567 เติบโตขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ประมาณ 14% โดยมีสัดส่วนตามกลุ่มเส้นทางได้แก่ กลุ่มเส้นทางสมุย 63% กลุ่มเส้นทางภายในประเทศ 28% กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV 8% และเส้นทางต่างประเทศ 1%

ปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สให้บริการเที่ยวบินสู่ 20 จุดหมายปลายทาง ประกอบด้วย ภายในประเทศ 12 แห่ง และต่างประเทศ 8 แห่ง พร้อมกันนี้ยังคงเดินหน้ากลยุทธ์เครือข่ายความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรสายการบิน โดยปัจจุบันมีสายการบินพันธมิตร รวมทั้งสิ้นจำนวน 28 สายการบิน และมีสายการบินข้อตกลงร่วมกว่า 70 สายการบิน

สำหรับปีนี้มีแผนข้อตกลงความร่วมมือกับสายการบินเพิ่มเติมประมาณ 2 สายการบิน คาดว่าทั้งปีจะมีสายการบินพันธมิตรรวม 30 สายการบิน เพื่อส่งเสริมศักยภาพเครือข่ายเส้นทางบิน และอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร รวมทั้งรองรับอุปสงค์การเดินทางระหว่างประเทศ โดยปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนเครื่องบินรวมทั้งสิ้นรวม 25 ลำในฝูงบิน

“ยอมรับว่าต้นทุนปรับขี้น แต่ราคาค่าตั๋วได้รับการอนุญาตจากกรมการบินพลเรือน โดยวางราคาให้อยู่ในกรอบ ให้เป็นไปตามกลไกของตลาด ขณะนี้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงกว่า 100 เหรียญต่อบาร์เรล จึงต้องขายบัตรโดยสารให้ได้มากกว่าต้นทุนที่ปรับขึ้นไป นอกจากนี้ ยังมีค่าซ่อมบำรุง ค่าเช่าเครื่อง ปรับสูงเช่นกัน เราพยายามปรับตัวให้สอดคล้อง และต้องมอนิเตอร์สถานการณ์ตลอดเวลา”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน