ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเปิดเผยถึงการส่งออกข้าวในเดือนก.พ. 2567 ว่า มีปริมาณ 800,225 ตัน มูลค่า 18,531 ล้านบาท โดยปริมาณลดลง 15.6% และมูลค่าลดลง 11.2% เมื่อเทียบกับเดือนม.ค. 2567 เนื่องจากเดือนก.พ. 2567 ส่งออกข้าวขาว ข้าวนึ่ง และข้าวหอมมะลิลดลง เพราะการส่งมอบข้าวขาว ให้กับผู้ซื้อที่สำคัญทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย รวมทั้งอิรัก มีปริมาณลดลงจากเดือนก่อนที่ผู้ซื้อต่างเร่งนำเข้า เพื่อชดเชยอุปทานข้าวในประเทศที่ลดลง โดยการส่งออกกลุ่มข้าวขาวมีปริมาณ 503,733 ตัน ลดลง 25.0% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน

โดยยังคงส่งไปยังตลาดหลัก เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แองโกล่า มาเลเซีย อิรัก โมซัมบิก โตโก เป็นต้น ขณะที่การส่งออกข้าวนึ่ง มีปริมาณเพียง 43,574 ตัน ลดลง 33.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น แอฟริกาใต้ เป็นต้น ส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 114,424 ตัน ลดลง 4.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยยังคงส่งไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐ ฮ่องกง แคนาดา จีน สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร เป็นต้น

ส่วนการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกปี 2567 มีปริมาณ 1,747,966 ตัน มูลค่า 39,401 ล้านบาท (1,126.4 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 24.4% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 55.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2566 โดยมีการส่งออกข้าวขาวมากที่สุด 1,575,584 ตัน เพิ่มขึ้น 58.3% รองลงมาคือ ข้าวหอมมะลิ 286,322 ตัน ลดลง 4.7% ข้าวหอมไทย 131,358 ตัน เพิ่มขึ้น 74.7% ข้าวนึ่ง 108,997 ตัน ลดลง 55.6% และข้าวเหนียว 45,705 ตัน เพิ่มขึ้น 10.8%

โดยผู้นำเข้าข้าวไทยสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ อินโดนีเซีย 511,132 ตัน เพิ่มขึ้น 101.3% รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ 181,060 ตัน เพิ่มขึ้น 1,313.6% สหรัฐอเมริกา 133,412 ตัน เพิ่มขึ้น 22.8% อิรัก 105,549 ตัน ลดลง 35.5% และไอเวอรี่โคสต์ 71,683 ตัน เพิ่มขึ้น 1,288.1%

“คาดว่าการส่งออกข้าวเดือนมี.ค. 2567 จะมีปริมาณ 800,000 ตัน ส่วนช่วงไตรมาสแรกน่าจะส่งออกได้ ราว 2.5 ล้านตัน เนื่องจากผู้ส่งออกยังคงมีสัญญาส่งมอบข้าวที่ยังต้องส่งมอบให้ผู้ซื้อพอสมควร ทั้งในกลุ่มของข้าวขาวซึ่งส่วนใหญ่ยังคงส่งไปยังประเทศในแถบอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย รวมทั้งตลาดหลัก ในภูมิภาคแอฟริกา และตะวันออกกลาง ขณะที่ข้าวนึ่งก็มีคำสั่งซื้อมากขึ้นซึ่งจากการที่อินเดียยังคงมีภาษีส่งออกข้าวนึ่ง ซึ่งขยายเวลาออกไปไม่มีกำหนด ขณะที่ตลาดนำเข้าข้าวหอมมะลิที่สำคัญทั้งในอเมริกา และเอเชีย ยังคงนำเข้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อชดเชยอุปทานข้าวในประเทศที่ลดลง ประกอบกับผลผลิตข้าวนาปรังของไทยเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น รวมทั้งค่าเงินบาท ที่เคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าลง ช่วยทำให้ราคาข้าวของไทยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้และจูงใจให้ผู้ซื้อหันมาหาข้าวไทยมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม อินเดีย ยังคงเป็นแชมป์ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก โดยในช่วง 2 เดือนแรกปี 2567 ส่งออก ปริมาณ 2.35 ล้านต้น ลดลง 38.6% รองลงมาคือไทย 1.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 24.4% ปากีสถาน 1.36 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 74.1% เวียดนาม 1.08 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 20.4% และสหรัฐอเมริกา 0.50 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 28.2%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน