นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตได้ในกรอบประมาณการที่ 2.8-3.3% การส่งออกคาดอยู่ที่ 2-3% และเงินเฟ้อ อยู่ที่ 0.7-1.2% ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงเติบโตได้ต่ำลง จากข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของไทยที่กระทบต่อการผลิต โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีขนาด 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญปัญหาและไม่สามารถส่งออกได้เต็มศักยภาพ ทำให้การส่งออกฟื้นตัวได้ช้าและไม่ทั่วถึง เช่น รถยนต์สันดาป ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (Hard Disk Drive) และผลิตภัณฑ์พลาสติก ชะลอตัวลงจากปัจจัยทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ขณะที่สินค้าที่ส่งออกได้ดีเป็นสินค้าที่มีความซับซ้อนต่ำ เช่น ยางรถยนต์ และเนื้อสัตว์แปรรูปนอกจากนี้สินค้าบางประเภทเผชิญการแข่งขันจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นภาคการผลิตไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้สอดรับกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จึงเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเพิ่มกลไกในการสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อสร้างฐานข้อมูลสำหรับประกอบการพิจารณาสินเชื่อตามกลไกตลาด

“ต้องการให้รัฐบาลส่งเสริมให้จดทะเบียนนิติบุคคล โดยยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ 5-7 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัว พร้อมปรับเงื่อนไขและเพิ่มทรัพยากรของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น”

นอกจากนี้ อุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนแอ เศรษฐกิจไทยต้องการแรงกระตุ้นเพิ่มเติมจากทั้งนโยบายการคลังในการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นอื่นๆ และนโยบายการเงิน ซึ่งจะเป็นในรูปของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือการปรับลดค่าธรรมเนียมนำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) อย่างที่เคยทำในอดีต จะช่วยลดภาระทางการเงินให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับทิศทางนโยบายการเงินของประเทศหลัก เช่น อังกฤษ และยุโรป มีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ย เพื่อประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจไม่ได้รีบลดดอกเบี้ยเร็วและแรงเหมือนที่นักวิเคราะห์เคยคาดไว้ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีทิศทางผันผวนอ่อนค่า ประกอบกับปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นในระยะข้างหน้า โดยประเทศที่แบ่งขั้วชัดเจนจะหันมาค้ากับประเทศที่มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ไม่ขัดแย้งกัน ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องหาโอกาสสร้างความได้เปรียบทางการค้า โดยเลือกกลยุทธ์ที่เฉพาะ “เจาะจง” กับบริบทของแต่ละภาคการผลิตในแต่ละตลาดส่งออก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน