นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (อัตราเงินเฟ้อ) เดือนมี.ค. 2567 ว่า เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค. 2566 อัตราเงินเฟ้อปรับลดลง 0.47% ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เป็นผลจาก ราคาสินค้าและบริการ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.57% ตามการลดลงของราคาเนื้อ ผักสด เนื่องจากผลผลิตในตลาดมีจำนวนมาก และฐานราคาเดือนมี.ค. 2566 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง และราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.40% ตามค่ากระแสไฟฟ้า และราคาน้ำมันในกลุ่มดีเซล ที่ยังต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2566 จากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐที่ยังคงดำเนินการ

สำหรับอัตราเงินเฟ้อช่วงไตรมาส 1/2567 ปรับลดลง 0.79% ส่วน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนมี.ค. 2567 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 0.37% ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้น 0.43%

นายพูนพงษ์ กล่าวถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 2/2567 ว่า จะสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น โดยขณะนี้ราคาน้ำมันเบนซินราคาเข้าใก้ลิตรละ 40 บาทแล้ว ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงทำให้ต้นทุนนำเข้าแพงขึ้น ฐานค่ากระแสไฟฟ้าที่ต่ำในปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในเดือนพ.ค. 2566 ซึ่งรัฐบาลลดค่าไฟฟ้าค่อนข้างมาก และ ภาคการท่องเที่ยว ฟื้นตัวทำให้ราคาสินค้าในหมวดที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น

“ราคาน้ำมันที่กำลังสูงขึ้น และเงินบาทที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทำให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยเดือนเม.ย. อาจจะยังติดลบที่ 0.1% ซึ่งถือว่าลบน้อยมาก และตั้งแต่เดือนพ.ค. เป็นต้นไป เงินเฟ้อจะพลิกกลับมาเป็นบวก โดยเงินเฟ้อรายไตรมาสจะเพิ่มขึ้น ไตรมาสแรก ติดลบไปแล้ว 0.79% แต่ไตรมาส 2 และ 3 ปีนี้ จะพลิกกลับมาเป็นอัตราบวก อยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน ราว 0.5-0.6% มั่นใจว่าเงินเฟ้อปีนี้จะไม่ติดลบและพลิกกลับมาเป็นบวกได้แน่นอน กระทรวงพาณิชย์ จึงปรับประมาณการเงินเฟ้อทั้งปีใหม่จากเดิมขยายตัวระหว่าง -0.3 – 1.7% เป็นระหว่าง 0-1%”

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อปีนี้อาจปรับลดต่ำลงอาทิ ฐานที่สูงของราคาเนื้อสุกรและผัก รวมทั้งราคาในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จากปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก, เศรษฐกิจขยายตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มต่ำกว่าคาดการณ์เดิมในช่วงต้นปี และการแข่งขันที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีกขนาดใหญ่ รวมทั้งการเติบโตของการค้าอีคอมเมิร์ซ ทำให้มีการใช้นโยบายส่งเสริมการค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะการปรับลดราคาอย่างต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน