น.ส.นริศรา เอี่ยมคุ้ย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ภาพรวมไม้ผลภาคตะวันออก 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ปี 2567 (ข้อมูล ณ 4 เม.ย. 2567) ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ระยอง จันทบุรี ตราด ผลผลิตรวมจำนวน 1,114,070 ตัน เพิ่มขึ้น 6.48% หรือเพิ่มขึ้น 67,816 ตัน จากปี 2566 ที่มีจำนวน 1,046,254 ตัน

โดย มังคุด เพิ่มขึ้นมากที่สุด 42% รองลงมา เงาะ เพิ่มขึ้น 8% ลองกอง เพิ่มขึ้น 3% และทุเรียน 1% ผลผลิตรวมของไม้ผลทั้ง 4 ชนิดเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศปีนี้มีความเหมาะสมต่อการออกดอกและติดผลของมังคุด เงาะ ลองกอง จากการได้พักต้นสะสมอาหาร ซึ่งปีที่ผ่านมาออกดอกติดผลน้อย ส่วนทุเรียนผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากอัตราเนื้อที่ให้ผลทุเรียนเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราการลดลงของผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ซึ่งเนื้อที่เริ่มให้ผลผลิตในปี 2567 ได้เป็นปีแรกเพิ่มขึ้นกว่า 38,000 ไร่ ทั้งนี้ ผลผลิตไม้ผลทั้ง 4 ชนิด จะออกมากที่สุดในเดือนพ.ค. 2567 คิดเป็น 51% ของผลผลิตทั้งหมด

เนื่องจากในปีที่ผ่านมาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการออกดอกติดผลของไม้ผล จึงได้พักต้นสะสมอาหารทำให้ปีนี้ออกดอกติดผลเพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุเรียนที่ปลูกในระยะหลายปีที่ผ่านมาเริ่มให้ผลผลิตเป็นปีแรกเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในทั้ง 3 จังหวัด ทำให้ภาพรวมผลผลิตรวมของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา แต่จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ/อากาศแปรปรวน ทำให้ผลผลิตปีนี้จะมีหลายรุ่น

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศและปรากฏการณ์เอลนีโญต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตของไม้ผล 3 จังหวัดภาคตะวันออก รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอตลอดฤดูกาลเก็บเกี่ยว สำหรับการกระจายตัวของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด เริ่มทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ย. 2567 โดยจะออกกระจุกตัวสูงสุดในเดือนพ.ค. คิดเป็น 51% ของผลผลิตทั้งหมด
เมื่อพิจารณารายสินค้า ทุเรียน เนื้อที่ยืนต้น 687,140 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 635,984 ไร่ เพิ่มขึ้น 8.04% หรือ 51,156 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 424,724 ไร่ เพิ่มขึ้น 8.85% หรือ เพิ่มขึ้น 34,547 ไร่ จากปี 2566 ที่มีจำนวน 390,177 ไร่ เนื่องจากเกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก โดยปรับเปลี่ยนจากพืชอื่น เช่น ยางพารา มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย ปาล์มน้ำมัน และพื้นที่ว่างเปล่า มาปลูกทุเรียนทดแทน จากปัจจัยด้านราคาและผลตอบแทนที่จูงใจต่อการลงทุน รวมทั้งความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ต้นทุเรียนมี ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ลดลง เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนในบางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้การออกดอกติดผลไม่เต็มต้น ได้น้ำหนักเฉลี่ยต่อลูกลดลง ประกอบกับมีต้นทุเรียนที่เริ่มให้ผลผลิต ปี 2567 เป็นปีแรกเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ สวนทุเรียนบางพื้นที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอตลอดฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดแต่งจำนวนผลต่อต้นลดลง ความสมบูรณ์ของผลทุเรียน ขนาดและรูปทรง ระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิต สำหรับการกระจายตัวของผลผลิตทุเรียน เริ่มทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนม.ค. ถึงเดือนก.ค. 2567 โดยจะออกสู่ตลาดกระจุกตัวมากที่สุดในเดือนพ.ค. 2567 คิดเป็น 53.20% ของผลผลิตทั้งหมด








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน