นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในไทยยังมีแนวโน้มที่ดีและเติบโตต่อเนื่อง เห็นได้จากไตรมาส 1/2567 การอนุมัติคำขอส่งเสริมการลงทุนไตรมาส 1/2567 มี 785 โครงการ เงินลงทุนรวม 254,928 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6% โดยมีการออกบัตรส่งเสริมเป็นขั้นตอนใกล้เคียงการลงทุนจริงจำนวน 647 โครงการ เงินลงทุนรวม 256,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 107%

ทั้งนี้ ภาพรวมการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรกคาดว่าจะทำให้มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นกว่า 6 แสนล้านบาท/ปี มีการใช้วัตถุดิบในประเทศประมาณ 2.4 แสนล้านบาท/ปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งหมด และเกิดการจ้างงานคนไทยประมาณ 50,000 ตำแหน่ง จากคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรกมี 724 โครงการ เพิ่มขึ้น 94% มูลค่าเงินลงทุนรวม 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31%

สะท้อนศักยภาพของไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลไทยเดินหน้าดึงการลงทุนจากกลุ่มบริษัทชั้นนำทั่วโลก การแก้ไขปัญหาการค้าและการลงทุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งการประกาศมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่างๆ ของบีโอไอ ทั้งยังได้รับแรงผลักดันจากกระแสการย้ายฐานการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

นายนฤตม์ กล่าวว่า โดยเฉพาะมีการลงทุนจำนวนมากในอุตสาหกรรมใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่ตามเทรนด์โลก เช่น กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มพลังงานหมุนเวียน และกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ รองรับการขยายตัวของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลขององค์กรต่างๆ เป็นต้น

กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 77,194 ล้านบาท โดยเฉพาะกิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ รองลงมาได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน 21,328 ล้านบาท ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 17,672 ล้านบาท ดิจิทัล 17,498 ล้านบาท เกษตรและแปรรูปอาหาร 13,278 ล้านบาท

สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีจำนวน 460 โครงการ เพิ่มขึ้น 130% มูลค่าเงินลงทุนรวม 169,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% โดยประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ 42,539 ล้านบาท จากการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทสิงคโปร์ที่มีบริษัทแม่เป็นสัญชาติจีนในกิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ จีน 34,671 ล้านบาท ฮ่องกง 26,573 ล้านบาท ไต้หวัน 19,960 ล้านบาท และออสเตรเลีย 17,248 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน