นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของเอ็กซิมแบงก์ ในไตรมาส 1/2567 (ม.ค.-มี.ค.) ว่า ธนาคารสามารถอนุมัติสินเชื่อใหม่ อยู่ที่ 5,853 ล้านบาท มีสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพัน 174,196 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,474 ล้านบาท หรือ 7.05% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันที่เป็น ESG จำนวน 67,310 ล้านบาท คิดเป็น 38.64% ของยอดทั้งหมด เพิ่มขึ้น 55.19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้เป็นเอสเอ็มอี 12,475 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันเพื่อการลงทุน 127,516 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันในโครงการระหว่างประเทศทั้งสิ้น 50,210 ล้านบาท เมื่อจำแนกเป็นรายตลาดที่สำคัญ พบว่า เอ็กซิมแบงก์สนับสนุนธุรกิจไทยให้ขยายไปกลุ่มประเทศ CLMV และ New Frontiers ที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง โดยมีสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันในกลุ่ม CLMV และ New Frontiers จำนวน 43,257 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน เอ็กซิมแบงก์มีปริมาณธุรกิจบริการประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 54,092 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2567 เอ็กซิมแบงก์ มีจำนวนลูกค้า 5,607 ราย ในจำนวนนี้เป็นลูกค้าเอสเอ็มอีมากถึง 81.15% และธนาคารยังสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างครบวงจร ผ่านการบ่มเพาะ/ให้ความรู้ จับคู่ทางธุรกิจ และให้คำปรึกษาทางการเงิน โดย ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2567 ได้ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการสะสมประมาณ 19,840 ราย

สำหรับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จำนวน 8,600 ล้านบาท คิดเป็น 4.99% และมีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) จำนวน 15,972 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) 185.72% ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 เอ็กซิมแบงก์มีกำไรจากการดำเนินงาน 805 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 132 ล้านบาท

“ในปี 2567 เอ็กซิมแบงก์เดินหน้า Go the Extra Mile ชูบทบาท Green Development Bank สร้าง Greenovation ช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยทุกขนาดธุรกิจใน Green Export Supply Chain ให้ได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษโดยอ้างอิงกับผู้ประกอบการรายใหญ่ พัฒนาสินค้ารักษ์โลกของไทยสู่ตลาดโลก เร่งเครื่องภาคส่งออกของไทยขยายตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปี สร้างสังคมคาร์บอนต่ำ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก พร้อมขานรับนโยบายรัฐบาลปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate เทียบเท่า MRR รวม 0.40% ต่อปีนับแต่ต้นปีนี้ เหลือ 6.35% ต่อปี เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบธนาคาร ช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี” นายรักษ์ กล่าว

นายรักษ์ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวอยู่ที่ระดับ 2-3% เนื่องจากเครื่องยนต์สำคัญกลับมาขยายตัวพร้อมกันในรอบ 6 ปี ได้แก่ การบริโภคและการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน การท่องเที่ยว ตลอดจนเครื่องยนต์สำคัญอย่างการส่งออกซึ่งหดตัวในปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มขยายตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปี ท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ การฟื้นตัวช้าของภาคการผลิต และหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ทั้งนี้ เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัว 3.2% และ 2.8% ตามลำดับ ราคาน้ำมันโลกและราคาโภคภัณฑ์ต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าส่งออกปรับตัวสูงขึ้นตาม

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวและแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในตลาดโลก โดยยกระดับคุณภาพและมูลค่าสินค้าเพื่อเจาะตลาดที่มีความต้องการสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์ Gadgets และสินค้ารักษ์โลก เอ็กซิมแบงก์ จึงพัฒนา Greenovation ที่มุ่งยกระดับสินค้าส่งออกของไทยเป็นสินค้ารักษ์โลกหรือ Green Products ควบคู่กับการสร้าง Green Export Supply Chain โดย EXIM BANK สนับสนุนสินเชื่อให้แก่ Green Export Supply Chain อัตราดอกเบี้ยพิเศษ เริ่มต้นที่ 3.85% ต่อปี ให้แก่ Suppliers และผู้ซื้อปลายทางของผู้ประกอบการตลอด Supply Chain ที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำได้ โดยอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ (Sponsors) ได้รับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน