ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 05.30 น. วันที่ 21 มี.ค. กลุ่มประมงพาณิชย์ นำโดยนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมแห่งประเทศไทย นำชาวประมงกว่า 1,600 คน มาชุมนุมหน้ากระทรวง และเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้เชิญตัวแกนนำเข้าหารือ รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอของชาวประมง

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเครือข่าวประมงพื้นที่บ้านแห่งประเทศไทยเข้าพบว่า ได้สั่งการให้ตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ที่ประกอบด้วย ภาครัฐ นักวิชาการและชาวประมง มาร่วมศึกษาความเป็นไปได้ หรือความเหมาะเกี่ยวกับกฏหมายการทำประมง โดยเฉพาะข้อเสนอให้มีการแก้ไขกฏหมายประมง 2558 ในหลาย 10 มาตรา เพราะชาวประมงมองว่า ทำให้การประกอบอาชีพไม่มีความเป็นอิสระและละเมิดสิทธิ์ของชาวประมง และให้เสนอยกเลิกคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 22/2560 เกี่ยวกับบทลงโทษที่ชาวประมงพาณิชย์ ระบุว่าหนักเกินไป โดยให้ขอเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นภายใน 1 เดือน

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเข้าพบ รมว.เกษตรฯ ครั้งนี้ มี 6 ข้อเสนอในดำเนินการภายใน 30 วันหรือไม่เกิน 1 เดือน คือ ยกเลิกข้อตกลงกับเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ขอให้รัฐบาลเร่งซื้อเรือประมงขาว-ส้ม คืน ยกเลิกกฏหมาย พ.ร.ก.ประมง ม.39, ม.57 ม.69 ม.81 ม.87 ม.113 ม.114 ม.125 ม.130 ม.132 ม.251 ม.152 ม.153 ม.166 ม.169 และให้แก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ 22/2560

นอกจากนี้ ยังขอให้เปิดจดทะเบียนให้กับเรือประมงพาณิชย์และออกใบอนุญาตทำการประมง เช่นเดียวกับประมงพื้นบ้าน และขอคืนสิทธิให้กับเรือประมงทุกลำที่ถูกยกเลิก ขอให้รัฐชดเชยและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาไอยูยู และขอให้การแก้ไขปัญหาแรงงานประมงทางทะเล โดยใช้ ม.83 แห่งพระราชกำหนดการทำประมงจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียวแบบถาวร

การเดินทางมาครั้งนี้ มีตัวแทนจากสมาคมการประมงจังหวัด สหกรณ์ประมง และกลุ่มเกษตรกรทำการประมงทั่วประเทศ จำนวน 19 จังหวัด จำนวน 1,658 คน เช่น สมุทรสาคร สมุทรปราการ ระยอง ชลบุรี เป็นต้น เดินทางมาร่วมเคลื่อนไหวชุมนุมที่กระทรวงเกษตรฯ เพื่อคัดค้านกรณีทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ กับสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยเห็นว่าบันทึกข้อตกลงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพประมง และสร้างความขัดแย้งในกลุ่มผู้ประกอบการประมงทั่วประเทศ

สำหรับประเด็นปัญหาในบันทึกข้อตกลงที่เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย นั้น คือเรื่องที่กระทรวงเกษตรฯ จะเสนอขอแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ. 2558 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชาวประมงพื้นบ้านเข้าสู่ครม. เพื่อพิจารณาภายใน 6 เดือน โดยมีเนื้อหาสำคัญ ดังนี้ 1. แก้ไขนิยามประมงพื้นบ้าน ในมาตรา 5 ใหม่ 2.ยกเลิกมาตรา 37 เกี่ยวกับการห้ามผู้ได้รับอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง

3. แก้ไขคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด เกี่ยวกับสัดส่วนกรรมการ กระบวนการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อย่างชัดเจน โปร่งใส เป็นมาตรฐานเดียวกัน และ 4. ให้ใช้มติของคณะทำงานในคณะอนุกรรมการแก้ไขกฎหมาย ที่ส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของชาวประมงและผู้ประกอบการด้านการประมง ที่แต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ

“การแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มประมงพื้นบ้านนั้น เช่น ยกเลิกมาตรา 34 ซึ่งเกี่ยวกับการห้ามผู้ได้รับได้รับอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง จะทำให้ประมงพื้นบ้านมีศักยภาพมากขึ้นและสามารถทำการประมงได้ไกลกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้พื้นที่การทำประมงทับซ้อนกับเรือประมงพาณิชย์ รวมถึงเกิดความขัดแย้งในกลุ่มผู้ประกอบการประมงทั่วประเทศได้”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน