“พรพิมล แย้มประชา”

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดย นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. นำคณะผู้ดำเนินงานด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม พร้อมสื่อมวลชนเดินทางดูงาน NEC Corporation ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาเทคโนโลยี การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ และรูปแบบในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ทันสมัย

เพื่อเป็นแนวทางนำไปปรับใช้กับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม สมาร์ต ปาร์ก (Smart Park) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่กำลังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศและภูมิภาค

ที่สำคัญเพื่อเป็นพื้นที่รองรับการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ตามเป้าหมายของรัฐบาล เช่น อุตสาหกรรมดิจิตอล อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมอากาศยาน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความปลอดภัยสาธารณะและการคมนาคมขนส่ง (Smart Security)

โดย NEC มีนวัตกรรมที่ช่วยสร้างเมืองที่ชาญฉลาดทั่วโลก (สมาร์ต ซิตี้) โดยเฉพาะเทคโนโลยีการเรียนรู้จดจำใบหน้า (NeoFace) ที่มีความถูกต้องในการตรวจสอบสูงสุดของโลก มีฟังก์ชันแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ เมื่อระบบสามารถตรวจจับได้ว่าใบหน้าของคนที่กำลังเข้ามาในพื้นที่ของกล้อง ตรงกับใบหน้าของคนในฐานข้อมูลลิสต์ ของคนที่ควรเฝ้าระวังหรือที่อยู่ในความสนใจ

ระบบดังกล่าวช่วยให้ระบบการเฝ้าระวังอาชญากรรม มีความ ถูกต้องและรวดเร็ว และยิ่งเมื่อรวมกับความสามารถในการทำงาน ร่วมกับกล้องแบบพกพาได้ยิ่งทำให้การตอบสนองสถานการณ์ที่ สุ่มเสี่ยงเป็นไปอย่างทันท่วงทีด้วย

ในโอกาสนี้ กนอ.ศึกษารูปแบบการดำเนินงานของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมแห่งมหานครโตเกียว (Tokyo Metropolitan Industrial Technology Research Institute : TIRI) ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในกรุงโตเกียวและปริมณฑลกว่า 900,000 ราย

กนอ.จะนำแนวทางและรายละเอียดการพัฒนาผู้ประกอบการของ TIRI มาเป็นต้นแบบในการพัฒนาศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center : ITC) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ รวม 10 แห่งให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นภายในเดือนส.ค.2561 นี้

เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และ ผู้ประกอบการรายใหม่ (สตาร์ตอัพ) ในประเทศไทยได้รับสิทธิประโยชน์และ การบริการรูปแบบใหม่ๆ อย่างเต็มที่

TIRI ให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีที่น่าสนใจและสามารถนำมาใช้เป็นต้นแบบในการตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต 7 ด้าน ได้แก่

1.รับจ้างทดสอบผลิตภัณฑ์ ให้คำปรึกษา

2.ให้บริการเช่าห้องทดลอง และเครื่องมือเครื่องจักร

3.วิจัยร่วมกัน

4.พัฒนาบุคลากร ให้การฝึกอบรม

5.เผยแพร่ข้อมูลอุตสาหกรรม เช่น จัดนิทรรศการ พิมพ์บทความ

6.จัดการสิทธิบัตรจากการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ

และ 7.จับคู่ธุรกิจที่เชื่อมโยงในคลัสเตอร์เดียวกัน

กนอ.จึงเตรียมนำต้นแบบการให้การสนับสนุนซึ่งแบ่งเป็น 6 ระดับจาก TIRI มาปรับใช้ คือ

1.การให้บริการทั่วไปสำหรับทุกสถานะของกิจการโดยมีศูนย์ให้คำปรึกษาแบบเบ็ดเสร็จ และสนับสนุนจ้างงานพัฒนาบุคลากร

2.การให้บริการสำหรับสถานะสร้างกิจการ โดยสนับสนุนการเตรียมพร้อมความรู้เบื้องต้น ทำแผนธุรกิจ รวมทั้งให้บริการเช่าสถานที่เริ่มต้นสร้างกิจการ

3.สำหรับสถานะดำเนินกิจการ ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือด้านนวัตกรรมการออกแบบ พร้อมมีเงินกองทุนสนับสนุนในการเริ่มวิจัย การวิจัยสินค้าหรือเทคนิคใหม่ การขอใบ รับรองมาตรฐานในต่างประเทศ เช่น ISO และการเปิดตลาดสินค้า

4.สำหรับสถานะเติบโตและมั่นคง มีศูนย์ข้อมูลกลางรวบรวมความต้องการซื้อจาก ผู้ผลิตขนาดใหญ่ และจับคู่รับช่วงการผลิต ให้กับ SMEs รวมทั้งสนับสนุนการบุกเบิกตลาดใหม่ โดยจัดตั้งจุดบริการให้คำปรึกษา โดยผู้มีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทขนาดใหญ่เป็นพี่เลี้ยง

5.สำหรับสถานะสืบทอดหรือฟื้นฟูกิจการ ให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูกิจการ SMEs ที่ประสบปัญหาหรือมีหนี้สิน หรืออยู่ในภาวะใกล้ล้มละลาย โดยจัดผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ปัญหา ให้คำแนะนำวิธีที่ดีที่สุด ในการฟื้นฟูหรือสืบทอดกิจการ

6.สถานะประกอบธุรกิจในระดับสากล ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบการลงทุน จัดหาผู้มีประสบการณ์ คอยช่วยเหลือให้คำแนะนำแก่เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ

นายวีรพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กนอ.ยังเดินทางไปศึกษาต้นแบบการบริหารจัดการตลาดกลางโอตะ (Ota Wholesale Market) เป็นตลาดค้าส่ง ผัก ผลไม้ และไม้ดอกที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น มีระบบการประมูลที่ได้รับการยอมรับระดับโลก เพื่อนำระบบตลาดประมูลมาประยุกต์ใช้ในการซื้อขายผลไม้ในโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC หรืออีเอฟซี) ที่จะจัดตั้งขึ้นบนพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ ภายในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ต ปาร์ก

โดยการศึกษา 4 ขั้นตอนที่สำคัญ คือ

1.การตรวจสอบสินค้าก่อนประมูล ขั้นตอนที่ผู้รับช่วงค้าส่งและ ผู้มีสิทธิ์ซื้อ จะตรวจสอบสินค้าก่อนการประมูล เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะนำไปขายต่อในราคาเท่าไหร่

2.การเริ่มประมูล ขั้นตอนที่สินค้าทั้งหมดจะถูกนำมาประมูล โดยผู้ที่ให้ราคาที่สูงที่สุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล โดยการประมูลนั้นจะผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และผู้มีสิทธิ์ร่วมประมูลจะประกอบด้วย ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต และพ่อค้าคนกลาง เท่านั้น

3.การตรวจสุขอนามัยของสินค้า เมื่อการประมูลเสร็จสิ้นลงจะมีการตรวจเช็กคุณภาพของสินค้า โดยจะมีหน่วยงานตรวจสอบสุขอนามัย ในสถานที่ประมูล สถานที่จำหน่าย และตรวจสอบมาตรฐาน คุณภาพ ความปลอดภัยของสินค้า ซึ่งหากตรวจพบว่าสินค้าไม่ได้มาตรฐานจะถูกระงับไม่ให้จำหน่ายทันที

และ 4.การกระจายสินค้า โดยผู้รับช่วงค้าส่งจะนำสินค้าที่ประมูลได้ออกจำหน่ายให้ผู้ซื้อในเวลาที่กำหนดไว้

ระบบการประมูลสินค้าเกษตรในรูปแบบนี้ ช่วยให้เกิดการรวบรวมสินค้าในปริมาณที่มากและหลากหลาย จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เกิดความต้องการซื้อสินค้าต่างๆ เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้สามารถควบคุมราคาโดยอาศัยหลักพื้นฐานของการประมูล ผู้ให้ราคาสูงสุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล เพื่อสร้างราคาที่เป็นธรรมให้กับเกษตรกร สามารถตรวจสอบคุณภาพ และมาตรฐานของผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างทั่วถึง

“สำหรับประเทศไทยถือเป็นผู้นำด้านการผลิตผลไม้เมืองร้อน ทั้งผลไม้สดและแปรรูป ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศถือครองส่วนแบ่งตลาดผลไม้เมืองร้อนของโลกมากที่สุด สามารถคุมกลไกการค้าผลไม้เมืองร้อนได้ และทำให้เกิดการสร้างแบรนด์ผลไม้ประเทศไทยให้ผู้บริโภครับรู้ว่าเป็นผลไม้เมืองร้อนที่ดีที่สุดในโลก” นายวีรพงศ์ กล่าว

นอกจากนี้ยังมีห้องเย็นขนาดใหญ่สำหรับกักตุนผลผลิตที่รวบรวมได้จากเกษตรกร ก่อนกระจายสินค้าไปยังตลาดต่างๆ คาดว่าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก จะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ได้เต็มรูปแบบภายใน 2-3 ปี

ช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการ ต่อรองราคา โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และตราด

หากทำได้จริงตามแผนคงยกระดับเกษตรกรไทยให้มี ชีวิตที่ดีขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน