นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยภายหลังบรรยายการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ว่า ธปท.ได้ติดตามแนวโน้มการลงทุนของนักลงทุนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากภาวะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ส่งผลให้นักลงทุนมีพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยพบว่ามีการเพิ่มสัดส่วนการลงทุน ทั้งหุ้นตัวเล็ก ตราสารที่มีคุณภาพต่ำ ตราสารที่มีความซับซ้อน และตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ แต่นักลงทุนไม่ได้ประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอย่างละเอียด

ธปท.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้ระมัดระวังและติดตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น รวมทั้งนักลงทุนควรเข้าใจถึงความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ที่จะลงทุน รวมถึงผู้ขายผลิตภัณฑ์ต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนโปร่งใสและครบถ้วนแก่นักลงทุน โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับความเสี่ยง

“การที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานจะเกิดภาวการณ์แสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งนักลงทุนต้องแน่ใจว่าจะรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดย ธปท.กังวลว่าประชาชนบางกลุ่มยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการเงิน คือจะไปให้ความสำคัญกับผลตอบแทน แต่ไม่เข้าใจความเสี่ยงที่ต้องรับมากขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ขายที่จะต้องให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนและถูกต้อง”

14520992641452099311l

นายวิรไทกล่าวอีกว่า ปัจจุบันเสถียรภาพระบบการเงินไทยอยู่ในเกณฑ์ดี แต่เริ่มมีความเปราะบางในบางกลุ่ม เช่น กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็ก และครัวเรือนเกษตร จากความสามารถชำระหนี้ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและปัญหาภัยแล้งที่ผ่านมา ส่วนเสถียรภาพการเงินด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถรองรับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงด้านต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังต้องเฝ้าระวังจากปัจจัยอื่นๆ โดยเฉพาะผลที่จะเกิดจากประเทศอังกฤษลงประชามติถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป(เบร็กซิต) ที่อาจทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนมากขึ้นจากภาวะเงินไหลเข้า-ไหลออก แม้ความตื่นตระหนกของนักลงทุนจะสงบลงแล้วแต่อาจจะมีผลต่อเนื่องไปในระยะปานกลางถึงระยะยาว

ขณะที่อัตราการว่างงานในประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะ 3-4 เดือนนี้ มองว่ายังไม่ใช้ภาวะที่ต้องกังวล เพราะการว่างงานเกิดขึ้นมาจาก 2 กลุ่มที่สำคัญ คือ กลุ่มเกษตรกร อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้ง และกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ที่เรียนจบออกมาในสาขาที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยมองว่าเมื่อสถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย อัตราการว่างงานในภาคเกษตรก็จะลดลง รวมทั้ง ภาพรวมมองว่าประเทศไทยยังมีแนวโน้มการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว

ด้านนายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวถึงสถานการณ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ยอมรับว่าแม้จะเกิดภาวะอุปทานล้น แต่ยังไม่เห็นสัญญาณว่าจะเกิดปัญหาฟองสบู่แตก เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยที่มากขึ้นนั้นมาจากความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองกันมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน