วันที่ 20 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา นายแจ๊ก หม่า (Mr. Jack Ma) ประธานกรรมการบริหาร Alibaba Groub และคณะผู้บริหาร เดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อเข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประกาศแผนการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล และส่งเสริมบุคลากรไทยในการพัฒนาทักษะและขีดความสามารถด้านดิจิทัลอีคอมเมิร์ซ

ถือเป็นปรากฏการณ์ และความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและจีน ที่ส่อแววจะขยับคืบแน่นมากขึ้น หลังรัฐบาลคสช. เข้ามาบริหารประเทศ

ข่าวสดออนไลน์ จึงติดต่อผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการ เพื่อวิเคราะห์ และนำเสนอมุมมองทำความเข้าใจต่อประเด็นนี้ให้มากขึ้น

รศ.ยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยว่าการมาของนายแจ๊ก หม่า ไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรกับไทย มากกว่าผลประโยชน์ที่จีนหรืออาลี บาบากรุ๊ปนั้นจะได้รับ เพราะว่า นายแจ๊ก หม่า คือนักธุรกิจ เพราะฉะนั้นการที่นายกฯ บอกว่า เขารวยแล้ว เขาต้องการมาเพื่อต้องการช่วยประเทศไทย ตนคิดว่าเป็นการมองข้ามมิติในเชิงของธุรกิจระหว่างประเทศ ที่มีหัวใจหลัก คือ การมองข้ามเรื่องพรมแดน สรุปง่ายๆ คือ มองประโยชน์ของทางธุรกิจเป็นหลักแค่นั้น

มองไทยเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ ประตูสู่อาเซียน

ดังนั้นการที่นายแจ๊ก หม่าเข้ามา จึงมีสัมพันธ์กับประเด็นต่างๆ อาทิ ยุทธศาสตร์ของจีน ทั้งเรื่องของการค้า และการเมือง อีกส่วน คือ การใช้พื้นที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประตูทางออกที่สำคัญจีน และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ถือว่า เป็นตลาดขนาดใหญ่ เพราะมีประชากรรวมกันเกือบหนึ่งพันล้านคน แต่ทั้งนี้ไทยก็ถือได้ว่าเป็นเกตเวย์ที่สำคัญของทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แผนการลงทุนที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ก็เน้นในเรื่องของอีคอมเมิร์ซ ที่เปิดโอกาสเรื่องการนำสินค้าไทยเข้าไปขาย และก็เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวจีน เดินทางมายังประเทศไทยง่ายขึ้น ดังนั้นตนจึงเชื่อว่า สุดท้ายแล้ว ไทยจะเสียเปรียบมากกว่า และอาจเกิดการหลั่งไหลของสินค้าจีน ผ่านระบบอีคอมเมิร์ซของอาลี บาบากรุ๊ปเข้ามามากมาย

ใครได้เปรียบกันแน่??

ในขณะที่สินค้าไทยที่ส่งออกไป ก็คงจะขายได้ดีขึ้น แต่ว่าในประเด็นนี้จะทำให้อาลี บาบากรุ๊ปเองก็ได้รับประโยชน์จากสินค้าที่ส่งไปขายไม่น้อยเหมือนกัน สุดท้ายไทยก็กลายเป็นอาณานิคมทางเศรษฐกิจของจีน ในโลกยุคอีคอมเมิร์ซนั่นเอง และจะถูกครอบงำในที่สุด แล้วอีคอมเมิร์ซจะยิ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่รวดเร็วมากขึ้นกว่าการค้าในรูปแบบปกติ

การอิงชาติมหาอำนาจในทุกยุคสมัย

ประเทศไทยมักดำเนินนโยบายต่างประเทศ อิงอยู่กับมหาอำนาจในทุกยุคทุกสมัย เช่นในอดีตอิงอยู่กับสหรัฐอเมริกา จนถึงจุดที่ไม่สามารถตอบสนองมาตรฐานได้ โดยเฉพาะเรื่องความเป็นประชาธิปไตย ไทยจึงหันมาอิงกับอีกขั้วมหาอำนาจใหม่อย่างจีน ซึ่งการดำเนินนโยบายทางการเมืองระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจระหว่างประเทศแบบนี้ ไม่ได้ทำให้ไทยได้เปรียบ เพราะสุดท้ายก็จบที่การเสียเปรียบมหาอำนาจอยู่ในทุกยุคทุกสมัย นี่จึงไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องในการดำเนินนโยบายเหล่านี้

ส่วนตัวมองว่า ก็เป็นนัยยะทางการเมืองระหว่างประเทศ ด้านจีนก็มองในเชิงความมั่นคงในระดับภูมิภาค แม้กระทั่งการใช้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นฐานในการที่จะแผ่ขยายอำนาจอิทธิพลของตัวเอง เพื่อที่จะคานอำนาจกับภูมิภาคอื่นๆ ที่เขาเข้ามามีบทบาท เช่น สหรัฐอเมริกา

สุดท้ายจีนเข้ามาได้ประโยชน์กับชนชั้นนำทางการเมือง หรือชนชั้นนำทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ว่าไม่ได้ถ่ายทอดมาสู่ผู้คน ตนจึงเชื่อว่า ไทยไม่ได้ประโยชน์จากข้อตกลงครั้งนี้เท่าที่ควร

อาจารย์วิโรจน์ อาลี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยในเรื่องนี้ว่า การเข้ามาของนายแจ๊ก หม่า ถือว่ามีความสำคัญต่อรัฐบาลคสช. ค่อนข้างเยอะ เพราะเป็นเรื่องที่ถูกผูกไว้กับอีอีซี หรือ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เหมือนเป็นการสร้างผลงานชิ้นโบว์แดง เพราะที่ผ่านมาแผนงานนี้ไม่ค่อยได้รับการตอบรับมากเท่าที่ควร เพราะในเวลาเดียวกัน นายแจ๊ก หม่า ก็เข้าไปลงทุนที่มาเลเซียด้วยจำนวนเงินลงทุนมหาศาล

ไทยก็ได้ประโยชน์บ้าง แต่อาจจะกระจุกตัวอยู่ที่ชนชั้นนำ

แต่ในทางกลับกัน ก็ทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากการดีลในครั้งนี้ ในแง่ของการลงทุนธุรกิจแบบใหม่ โดยเฉพาะประเภท อีคอมเมิร์ซ และสิ่งที่แจ็ค หม่าพยายามสื่อสารออกมาก็คือ การรับซื้อสินค้าจากไทย การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่จะให้คนจีนเข้ามาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น โดยในรายละเอียดบางส่วนได้พูดถึงการส่งสินค้าเกษตรออกขายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ ซึ่งมีความยากในส่วนการจัดการระบบ ที่จะไม่เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนจำนวนน้อยมากของประเทศ จนทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยเสียประโยชน์ รัฐบาลมีหน้าที่ประสานและดำเนินการให้เกษตรกรรายย่อยทั่วไป สามารถส่งสินค้าขายผ่านระบบเองได้

เมื่อพิจารณาดูที่การรองรับการลงทุนในมาเลเซีย ที่มีระบบจัดการ โดยมี Warehouse ขนาดใหญ่รองรับสินค้าจำนวนมาก มี Tax Free Zone ที่คอยส่งเสริมการไหลเข้าออกของสินค้า ซึ่งการเจรจาครั้งนี้ของนายแจ๊ก หม่า กับไทย ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดส่วนนี้เลย

การลงทุนที่อาจมีปัญหาตามมา

จึงมีแนวโน้มที่การลงทุนของอาลีบาบาในครั้งนี้ อาจจะมีปัญหาตามมา รับบาลควรจะเจรจาและวางแผนกันอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง และเชื่อว่ายังมีรายละเอียดที่ต้องวางแผน และปรับแก้อีกหลายประเด็น เพื่อให้ดิจิตอลอีโคโนมีเติบโตอย่างแท้จริง

การลงทุนย่อมแสวงหากำไร

เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อาลีบาบา เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างกำไร การเข้ามาในครั้งนี้ ย่อมมีผลประโยชน์ที่ต้องการแน่นอน แต่รัฐบาลไทยต้องวางแผนอย่างดี เพื่อจะทำให้ผู้ประกอบการในระบบได้ประโยชน์อย่างแท้จริง และสามารถแข่งขันเติบโตไปพร้อมกัน

ส่วนประเด็นทางการเมือง ก็ไม่ได้มีตื้นลึกหนาบาง รัฐบาลไทยเพียงก็สามารถดำเนินตามแผนอีอีซีที่วางไว้ ส่วนผลลัพธ์นี้ ก็ต้องติดตามดูกันต่อไป เพราะอีอีซีอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์นักลงทุนต่างชาติอย่างแท้จริงก็ได้

ผลของการเจรจาระหว่างรัฐบาล และนายแจ๊ก หม่า นี้ก็อาจจะกล่าวได้ยากว่า จีนจะเข้ามาครอบงำไทย แต่สิ่งที่กังวล ก็คือ การที่รัฐบาลคสช. มีเครื่องมือที่ชื่อว่า มาตรา 44 ซึ่งอาจจะนำไปใช่ลดขั้นตอน และให้ประโยชน์ แก่ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งการร่วมมือกับอาลีบาบา ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ได้ขัดต่อกฎหมายประเภทใดหรือไม่ หรือทำให้ใครได้ประโยชน์เป็นพิเศษหรือเปล่า

จึงต้องมองกฎระเบียบ ข้อบังคับหลายๆ อย่างไปพร้อมกัน และต้องส่งเสริมนักลงทุนต่างชาติรายอื่นๆ เข้ามาด้วย

“หากมองในมุมการมีอิทธิพลเหนือไทยมากกว่าเดิม ส่วนนี้ก็ต้องยอมรับ แต่ก็ต้องพิจารณาว่าการเข้ามามีอิทธิพลของจีนนี้ เข้ามาภายใต้เงื่อนไขใด หากไทยมองว่าจีน จะกลายเป็นตลาดเศรษฐกิจใหม่ จะเปิดให้การไหลเวียนของสินค้าขยายตัว และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นส่วนนี้ก็ค่อนข้างยอมรับได้ แต่ต้องมาพร้อมวิธีคิดที่ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่ายในระบบ” อาจารย์วิโรจน์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน