นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ยินดีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมาได้มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมาโดยตลอด ทั้งในส่วนของกระทรวงการคลัง และภาคเอกชน โดยการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการเงินนั้น เป็นหน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งจะมีการพิจารณาที่ชัดเจนเป็นรอบๆ และพิจารณาจากข้อมูลในหลายด้าน หลายมิติ เนื่องจากปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ภาคธุรกิจ ระบบการเงินและตลาดการเงินของโลกก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเช่นกัน ดังนั้นการพิจารณานโยบายการเงินจึงจำเป็นต้องมองไปข้างหน้า ภายใต้ความเหมาะสมในแต่ละช่วงด้วย

ทั้งนี้ หน้าที่ของธนาคารกลางที่สำคัญ คือ การคำนึงถึงเสถียรภาพที่ต้องดูจากหลายมิติ หลายด้าน ทั้งด้านราคา ด้านปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจที่ต้องแน่ใจว่าเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ด้านเสถียรภาพการเงินในระบบว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม และไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงในระบบการเงินของประเทศจนกลายเป็นจุดเปราะบางในระยะยาว รวมทั้งต้องพิจารณาความสมดุลในการดำเนินนโยบายแต่ละส่วนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม คำนึงถึงกลุ่มต่างๆ อาทิ ผู้ฝากเงิน ผู้กู้เงิน

“ธนาคารกลางทุกแห่งพยายามทบทวนตลอดเวลา โดยเรามองไปข้างหน้า และนโยบายการเงินเหมือนเหรียญ 2 ด้าน ไม่มีนโยบายอะไรไม่มีต้นทุน จะมีคนที่ได้ และคนที่เสียประโยชน์อยู่เสมอ ดังนั้นในส่วนนี้จึงเป็นหน้าที่ของธนาคารกลางที่จะต้องชั่งน้ำหนัก เพราะเราต้องรักษาความสมดุล เป็นเรื่องปกติที่บางครั้งเราอาจจะมองภาพในระยะสั้นซึ่งเป็นมุมมองของคนในสังคมที่ให้ความสำคัญตรงนี้มากกว่า แต่เราต้องไม่ลืมว่าต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะยาวด้วยเช่นกัน เพราะธนาคารกลางมีหน้าที่สำคัญในการรักษาเสถียรภาพ และอาจจะเป็นองค์กรเดียวที่มีหน้าที่นี้ชัดเจน ซึ่งกรณีของไทย ก็มี กนง.ในการพิจารณาน้ำหนักด้านต่างๆ อยู่” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวอีกว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้มีนักลงทุนที่เพิ่มการลงทุนเข้ามาในไทยมากขึ้น จนทำให้เกิดมีการเก็งกำไรจากค่าเงินขึ้นในบางช่วง เมื่อเราเห็นสัญญาณในส่วนนี้ก็ได้กำกับสถาบันการเงินที่เชื่อว่ามีธุรกรรมหนาแน่น หรือผิดปกติ เพื่อควบคุมดูแลสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยการไหลเข้ามาของเงินทุนส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นหลัก เนื่องจากไทยมีการขายสินค้าและบริการจนทำให้มีเงินเข้ามาในรูปเงินตราต่างประเทศมากขึ้น

ขณะที่นักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจในระบบเศรษฐกิจไทย จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมที่ดีขึ้น แม้จะยังมีปัญหาเรื่องการกระจายตัวอยู่บ้าง และความกังวลเรื่องความเสี่ยงทางการเมืองที่น้อยลง

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ ธปท. ต้องเฝ้าระวังในการพิจารณานโยบายทางการเงิน อาทิ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างต่างๆ ในโลก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่ทำให้ธุรกิจหลายประเภทต้องมีการปรับตัวอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดพลวัตรของปัญหาเงินเฟ้อ รวมถึงภาพรวมการลงทุนของเอกชนที่ยังอยู่ในระดับต่ำทั่วทั้งโลก ด้วยเพราะเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญ ทำให้โลกเข้าสู่สังคมเชิงแบ่งปัน การลงทุนโดยการเป็นเจ้าของเองจึงไม่จำเป็นเหมือนเดิม ทำให้จะเห็นภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในรอบนี้จะไม่เห็นการลงทุนที่ฟื้นขึ้นแรงเหมือนรอบที่ผ่านมา อีกทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่ทำให้พฤติกรรมการใช้จ่ายต่างออกไป

“ผู้สูงอายุส่วนใหญ่พึ่งพารายได้จากดอกเบี้ยที่เกิดจากการออมเงินประจำ และตอนนี้เริ่มกังวลว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ต่ำนานๆ หรือมีสัญญาณจะลดลงอีก จะกระทบกับเงินออมของผู้สูงอายุ และความมั่นใจของผู้บริโภค เป็นเรื่องที่ธนาคารกลางหลายแห่งให้ความสำคัญ เพราะเรื่องเสถียรภาพการเงิน ดอกเบี้ยที่ต่ำนานๆ ทำให้ฐานเงินออมของแต่ละประเทศต่ำลง ไม่เพิ่มขึ้น ทำให้มีพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงทางการเงินที่ดีพอ จนทำให้เกิดความเปราะบางในอนาคต ตรงนี้เป็นเรื่องที่ธนาคารกลางทุกประเทศต้องระมัดระวังมากขึ้น จึงจะเห็นแนวคิดเรื่องการนำเสถียรภาพการเงินมาเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณานโยบายการเงิน ไม่ใช่เน้นเพียงเรื่องเงินเฟ้อ แต่กรอบเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นก็จะพิจารณาในระยะยาวด้วย” นายวิรไท กล่าว

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาคลังได้ออกมาตรการจูงใจให้เอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตอนนี้เอกชนเห็นตรงกับคลังที่ต้องการให้ ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายช่วยการขยายตัวเศรษฐกิจให้มากขึ้น








Advertisement

“ธปท. จะลดดอกเบี้ยช่วยเศรษฐกิจหรือไม่ เป็นเรื่องของ ธปท. ไม่ยากช่วยก็ตามใจ เพราะเป็นหน้าที่และเป็นสิทธิ์ของ ธปท”นายสมชัย กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน