นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 744 บริษัท คิดเป็น 96.2% จากทั้งหมด 773 บริษัท (ไม่รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บจ. ในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC) นำส่งผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนของปี 2564 สิ้นสุด 30 ก.ย. 2564 พบว่ามี บจ. รายงานกำไรสุทธิ 563 บริษัท คิดเป็น 75.7% ของ บจ. ที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด

สรุปผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนของปี 2564 บจ. มียอดขายรวม 9,266,260 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.4% กำไรจากการดำเนินงานหลัก (Core profit) 1,198,198 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84.3% กำไรสุทธิ 741,769 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 93.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ บจ. มีอัตรากำไรจากการดำเนินงานและอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 12.93% และ 8.0% ตามลำดับ สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอยู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์

โดยผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นมาเนื่องจาก บจ. ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากครึ่งแรกของปี 2563 ที่ได้รับผลกระทบการระบาดของโควิด 19 รอบแรก อีกทั้ง ราคาน้ำมันและค่าการกลั่นได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี 2564

สำหรับฐานะการเงินของกิจการ ณ สิ้นเดือนก.ย. ปี 2564 บจ. ไทยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) อยู่ระดับคงที่ที่ 1.50 เท่า

“สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2564 เทียบกับไตรมาส 2 ปี 2564 บจ. มียอดขายรวม 3,184,623 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.04% อย่างไรก็ดี มีกำไรจากการดำเนินงาน 383,576 ล้านบาท ลดลง 8.3% และมีกำไรสุทธิ 203,809 ล้านบาท ลดลง 23.7% เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 สูงที่ขึ้นและมาตรการควบคุมเข้มงวดของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม หมวดธุรกิจที่ยังคงเติบโตได้ดี คือ หมวดธุรกิจการแพทย์ เนื่องจากความต้องการด้านการรักษาพยาบาลมีสูงมากขึ้น” นายแมนพงศ์กล่าว

ด้านนายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียนใน mai จำนวน 173 บริษัท คิดเป็น 96% จากทั้งหมด 181 บริษัท (ข้อมูล ณ วันที่ 22 พ.ย. 2564 ไม่รวมบริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC และบริษัทที่ปิดงบไม่ตรงงวด) นำส่งผลการดำเนินงานไตรมาส 3 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2564 พบ บจ. ที่รายงานผลกำไรสุทธิจำนวน 118 บริษัท คิดเป็น 68% ของบริษัทที่นำส่งผลการดำเนินงานทั้งหมด

ผลประกอบการ บจ. mai ไตรมาส 3 ปี 2564 เทียบกับไตรมาส 2 ปี 2564 มียอดขายรวม 42,483 ล้านบาท ลดลง 1.6% ต้นทุนรวม 32,903 ล้านบาท ลดลง 1.5% ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงเล็กน้อยจาก 22.6% เป็น 22.5% กำไรจากการดำเนินงาน (operating profit) 2,759 ล้านบาท ลดลง 2.5% ส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานลดลงเล็กน้อยจาก 6.6% เป็น 6.5% ขณะที่กำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 2,804 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 69.3% และมีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 3.8% เป็น 6.4% ซึ่งมีผลจากรายการพิเศษของบางบริษัท

นายประพันธ์ เจริญประวัติ

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการงวด 9 เดือน ปี 2564 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน พบว่ามียอดขายรวม 121,966 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงาน 7,765 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 6,430 ล้านบาท เติบโตขึ้น 12.0%, 50.6% และ 463.5% ตามลำดับ

“ไตรมาส 3 ปี 2564 ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังลดลง แต่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวช่วงปลายไตรมาสจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ประกอบกับ บจ. สามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้งวด 9 เดือนแรก ปี 2564 ภาพรวม บจ. ใน mai มียอดขายและกำไรสุทธิเติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 3 ลำดับแรก คือ สินค้าอุปโภคบริโภค จากกลุ่มธุรกิจเครื่องมือแพทย์ รองลงมา คือ ธุรกิจการเงิน และทรัพยากร” นายประพันธ์กล่าว

ในส่วนของฐานะทางการเงิน บจ. mai มีสินทรัพย์รวม 273,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.4% จากสิ้นปี 2563 และโครงสร้างเงินทุนรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแรง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) อยู่ที่ 1.08 เท่า ลดลงจากสิ้นปี 2563 ที่เท่ากับ 1.11 เท่า

ปัจจุบันมี บจ. ใน mai 181 บริษัท (ข้อมูล ณ วันที่ 23 พ.ย. 2564) ดัชนี mai ปิดที่ระดับ 561.94 จุด มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (market capitalization) อยู่ที่ 447,372.01 ล้านบาท มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 5,345.90 ล้านบาทต่อวัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน