ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (1-5 เม.ย.) สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 6 เดือนที่ 36.84 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาบางส่วนปลายสัปดาห์

เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ตามทิศทางสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค และแรงขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ตลาดมุ่งความสนใจไปที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ของไทยในวันที่ 10 เม.ย. นี้ ด้านเงินดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ โดยมีแรงหนุนจากดัชนี ISM ภาคการผลิตเดือนมี.ค.ของสหรัฐ ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งกระตุ้นการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่น่าจะรีบส่งสัญญาณเตรียมปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะใกล้ๆ นี้

อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ ลดช่วงบวกลงบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ (อาทิ ดัชนี ISM ภาคบริการเดือนมี.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน) ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด และอาจมีแรงขายเงินดอลลาร์ เพื่อปรับโพสิชันก่อนการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ
ในวันศุกร์ที่ 5 เม.ย. 2567 เงินบาทเคลื่อนไหวอย่างผันผวน โดยแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 6 เดือนที่ 36.84 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะกลับมาปิดตลาดที่ระดับ 36.65 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 36.39 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (29 มี.ค. 2567) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 1-5 เม.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 1,846 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 9,550 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตรไทย 9,363 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 187 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (8-12 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.20-37.20 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. และสัญญาณแนวโน้มดอกเบี้ยไทย (10 เม.ย.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. บันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 19-20 มี.ค. ข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนเม.ย.
นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามผลการประชุม ECB และตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมี.ค. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และยอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย แม้ดัชนีตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบ แต่ยังคงย่อตัวลงต่อจากสัปดาห์ก่อน

โดยภาพรวมหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบแต่อิงไปทางขาลง โดยนอกจากจะไร้ปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุนแล้ว ยังมีแรงกดดันจากการปรับลดตัวเลขคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2567 ของธนาคารโลก รวมถึงแนวโน้มการยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงเป็นเวลานานของเฟด หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ออกมาค่อนข้างดี ซึ่งปัจจัยลบดังกล่าวกระตุ้นแรงขายหุ้นในหลายกลุ่ม นำโดยกลุ่มแบงก์ เทคโนโลยีและไฟแนนซ์

อย่างไรก็ดี หุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้เล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ (แม้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในภูมิภาคจะปรับตัวลง) โดยมีแรงซื้อคืนหุ้นกลุ่มแบงก์ วัสดุก่อสร้างและพลังงานเข้ามาหนุน อนึ่งสัปดาห์นี้หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นสวนทางภาพรวมตลาด รับอานิสงส์ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวขึ้นท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง








Advertisement

ในวันศุกร์ที่ 5 เม.ย. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,375.58 จุด ลดลง 0.17% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 33,040.65 ล้านบาท ลดลง 5.15% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 4.12% มาปิดที่ระดับ 394.75 จุด

สัปดาห์ถัดไป (8-12 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,365 และ 1,350 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,385 และ 1,400 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมกนง. (10 เม.ย.) ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดและทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. บันทึกประชุมเฟด รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม ECB ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ.ของญี่ปุ่น ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมี.ค. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และตัวเลขการส่งออก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน