ชีพจรไม่หยุด! ‘ชัชชาติ’ ลุยปัญหาฝุ่นพิษเชียงใหม่ ไปแม่กำปอง หาวิธีกำจัดไฟป่า

29 มี.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย เดินทางไปยังหมู่บ้านแม่กำปอง ต.ห้วยแก้ว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านต้นแบบในการแก้ไขปัญหาเผาป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกทำไร่เลื่อนลอย บ้านแม่กำปองเป็นพื้นที่ตั้งอยู่กลางขุนเขา มีทรัพยากรป่าไม้และน้ำที่อุดมสมบูรณ์ แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ แต่เนื่องจากวิถีชุมชนการทำไร่

ที่ต้องเผาป่าเพื่อหาพื้นที่เพาะปลูกจนทำให้พื้นดินที่ถูกเผาเสียความอุดมสมบูรณ์และต้องเผาป่าย้ายที่ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งชาวบ้านได้ตระหนักถึงผลเสียจากการเผาป่าและทำไร่เลื่อนลอย จึงหันมาปลูกกาแฟ ใบชา และเก็บใบเมี่ยงชา พร้อมกับรณรงค์ให้ชาวบ้านเข้าใจถึงความสำคัญของผืนป่าว่าหมู่บ้านแม่กำปองอยู่ได้ก็ด้วยมีความอุดมสมบูรณ์ของป่า น้ำที่ใช้ดื่มกินก็มาจากผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ จึงทำให้ชาวบ้านตระหนักและช่วยกันดูแลหมู่บ้านอย่างจริงจัง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นายประดิษฐ์ ถมมา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่กำปอง เล่าให้ นายชัชชาติ ฟังว่า ”สมัยรุ่นปู่ย่าตายาย ชาวบ้านจะทำไร่เลื่อนลอยเป็นหลัก เป็นวิธีเกษตรที่จะต้องเผาป่าเพื่อเอาพื้นที่มาเพาะปลูก แต่จนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ชาวบ้านเริ่มตระหนักถึงผลเสียในเรื่องการเผาป่า จึงเลิกเผาป่าและหันมาทำอาชีพเก็บใบเมี่ยง ใบชา และปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิกาเป็นอาชีพหลัก”

นอกจากนี้ ชุมชนแม่กำปองยังนำเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชนมาใช้ขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับการทำงานอนุรักษ์อย่างได้ผลจริง โดยพบว่า การท่องเที่ยววิถีชุมชนของหมู่บ้านแม่กำปอง สร้างรายได้ ลดหนี้สินให้กับสมาชิกในหมู่บ้าน จนปัจจุบันนี้ หมู่บ้านแม่กำปองเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่

มีบ้านพักโฮมสเตย์รองรับนักท่องเที่ยวได้มากถึง 200 คนต่อวัน มีน้ำตกแม่กำปอง สูง 7 ชั้นเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญ มีโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยโครงการกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มอาชีพโอท็อป เช่นการผลิตหมอนใบชาแม่กำปอง กลุ่มเลี้ยงผึ้งหลวงแม่กำปอง จนได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อีกด้วย

ทั้งนี้ นายชัชชาติ เห็นว่าโมเดลของหมู่บ้านแม่กำปองสามารถใช้เป็นต้นแบบเพื่อการกำจัดฝุ่นที่เกิดเนื่องจากการเผาไร่และเผาป่าได้ทั้งในเชียงใหม่และภาคเหนือในระยะยาว ซึ่งหัวใจสำคัญคือการเปลี่ยนอาชีพจากการปลูกข้าวโพด มาปลูกพืชทดแทนที่ยั่งยืนและมีตลาดรองรับ เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เพียงพอและไม่ต้องเผาไร่เพื่อกำจัดซากข้าวโพด

นอกจากนี้ชาวบ้านอาจหารายได้จากทางอื่นเช่นการทำ Homestay โดยเน้นการท่องเที่ยวที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ชาวบ้านตื่นตัวร่วมรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเรื่องเผาป่าได้อีกทางหนึ่ง

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน