ทีดีอาร์ไอ ข้องใจสูตรคำนวณ ส.ส. พรรคคะแนนน้อยกลับได้ที่นั่ง เสียงเพื่อไทยตกน้ำ

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงสูตรคำนวณคะแนน ส.ส.เขตและส.ส.บัญชีรายชื่อที่มีการคำนวณออกมา 2 แบบหลักๆ โดยแบบหนึ่งที่มีมากกว่า 10 พรรคได้ส.ส. 1 คน และอีกแบบคือได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จำนวน 26 พรรค ว่า เกิดจากกฎหมายที่เขียนไว้ไม่ชัดเจน จนตีความได้อย่างน้อย 2 แบบ และการทำตามแต่ละแบบก็มีประเด็นปัญหาให้แย้งได้ทั้งคู่

ดร.วิโรจน์ กล่าวต่อว่า จากสูตรที่เขียนไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. กรณีการคำนวณแล้วมีพรรคเล็กเป็นสิบพรรคได้ 1 ที่นั่ง โดยบางพรรคมีคะแนนแค่ 20,000 เสียง เป็นปัญหาทางเทคนิคที่เกิดจากการปัดเศษหลายรอบ ทำให้พรรคที่ได้คะแนนแค่ 2-3 หมื่นเสียงได้ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ขณะที่พรรคที่ไม่ได้ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ อย่างพรรคเพื่อไทย ต้องใช้คะแนนเฉลี่ยเกือบ 60,000 ต่อ ส.ส. 1 คน ซึ่งดูย้อนแย้ง เพราะระบบนี้ไม่ให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อกับพรรคเพื่อไทย เพราะบอกว่าได้เสียงมากเกินไป แต่มาให้กับพรรคที่ได้คะแนนไม่ถึงครึ่งของคะแนนเฉลี่ยของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จึงชวนให้กังขาว่าเป็นไปตามหลักการที่อ้างกันมาแต่แรกหรือไม่

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ดร.วิโรจน์ กล่าวอีกว่า ในประเด็นมีผู้อ้างเหตุผลว่าต้องให้ที่นั่งส.ส.บัญชีรายชื่อกับพรรคที่คะแนนน้อยเพื่อที่ “ทุกเสียงไม่ตกน้ำ” นั้น ในความเป็นจริงแล้ว ในระบบนี้เสียงของทุกพรรคที่ชนะได้ส.ส.เขต ก็ไม่มีเสียงไหนตกน้ำ และทุกเสียงของพรรคอื่นที่แพ้ก็ไม่ตกน้ำ เพราะนำไปรวมคิดที่นั่งของส.ส.บัญชีรายชื่อ มีแต่เสียงของพรรคเพื่อไทยที่แพ้แล้วตกน้ำทุกเสียง ตนเข้าใจว่าการปรับแก้กฎกติกาในแต่ละครั้งก็ย่อมมีผลกระทบ ทำให้มีคนได้คนเสีย แต่การอ้างว่าในระบบนี้ทุกเสียงถูกใช้นั้น เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ใช่ความจริง

ทั้งนี้ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ในมาตรา 128 (7) ระบุว่า ในกรณีที่เมื่อคํานวณตาม (5) แล้วปรากฏว่าพรรคการเมืองทุกพรรคได้รับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ รวมกันแล้วเกิน 150 คน ให้ดําเนินการคํานวณปรับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใหม่ โดยคํานวณตามอัตราส่วนที่ทุกพรรคจะได้รับการจัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเมื่อรวมแล้วไม่เกิน 150 คน โดยให้นําจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับคูณด้วย 150 หารด้วยผลบวกของ 150 กับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่เกินจํานวน 150 และให้นํา (4) มาใช้ในการคํานวณด้วยโดยอนุโลม

สำหรับอีกสูตรที่มีผู้คำนวณไว้แล้วได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ จำนวน 26 พรรคนั้น เนื่องจากพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เขต 137 คน แต่จำนวน ส.ส.พึงมีคือ 111 คน ทำให้มี ส.ส.เกินมา 26 คน กลายเป็นส.ส.โอเวอร์แฮงค์ จึงต้องนำจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คนไปบวกกับที่เกินมา 26 คน เป็น 176 คน แล้วนำจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่พึงมีของแต่ละพรรค มาคูณด้วยจำนวน ส.ส. 150 คนแล้วหารด้วย 176

เช่น พรรคพลังประชารัฐ ได้ ส.ส.พึงมี 118 คน แต่มีส.ส.เขตแล้ว 97 คน เดิมจะมีส.ส.บัญชีรายชื่อ 21 คน แต่เมื่อคำนวณใหม่จะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ปัดเศษขึ้นแล้ว เป็น 18 คน ส่วนพรรคอนาคตใหม่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 49 คน เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน