‘ทวี’ ชี้ต้นเหตุ! วิกฤตศรัทธาเลือกตั้ง กกต. ขัดผลประโยชน์ตั้งแต่เริ่ม

พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า การขัดกันแห่งผลประโยชน์ : สร้างวิกฤต ศรัทธากับ กกต. ทั้ง 7 คน กกต.เป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นและการออกเสียงประชามติ

จึงมีความคาดหวังว่า กกต.ต้องทำงานอย่างอิสระ ไม่เอนเอียง มีความโปร่งใสและเป็นธรรม ให้ทุกคนมีสิทธิ์ที่มีส่วนร่วมในการปกครองของประเทศ เพื่อทำให้ “หนึ่งสิทธิ์ หนึ่งเสียง หนึ่งคุณค่า ที่มีความเสมอภาคกัน” ปัจจุบัน กกต.กำลังเกิดวิกฤติศรัทธา ในการเลือกตั้งอย่างรุนแรง อาจมีสาเหตุในหลายประการ อาทิ ระบบเลือกตั้งของไทยได้ผูกติดไว้กับ รัฐธรรมนูญ 2560 หลายมาตรา ที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย

สาเหตุที่สำคัญ คือ ที่มาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากประชาชนหรือประชาชนมีส่วนร่วมที่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย จึงเข้าลักษณะ “การขัดกันซึ่งผลประโยชน์” กล่าวคือ กกต.ทั้ง 7 คน ถูกสรรหาโดยคณะกรรมการ (ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 203) ที่ไม่มีบุคคลใดยึดโยงกับประชาชนเลย จากนั้นได้นำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเป็นบุคคลที่แต่งตั้งโดยหัวหน้าคสช. ทั้งหมด

ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 222 ที่บัญญัติว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกอบด้วยกรรมการ 7 คนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ตามคำแนะนำของวุฒิสภา เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดปัจจุบันทุกคนถูกแต่งตั้งโดยหัวหน้าคสช. ดังนั้นการได้มาของ กกต.ทั้ง 7 คน ถือเป็นผู้แต่งตั้งโดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เช่นกัน จึงเสมือนอยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมายหรือความครอบงำใดๆ ที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์

หากย้อนดูเส้นทาง สู่ กกต7 คน พบว่ามีพิรุธและถูกตั้งคำถาม ตั้งแต่การเซ็ตซีโร่ กกต.โดยสนช. แก้ไขกฏหมายให้กกต. ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ก่อนกฎหมายใช้บังคับต้องพ้นไปจากตำแหน่ง นำมาซึ่งการสรรหา กกต.ชุดใหม่ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2561 สนช.ไม่เห็นชอบกกต. ที่คณะกรรมการสรรหาเสนอทั้ง 7 คน ที่มีผู้หญิงร่วมอยู่ด้วย และหลังจาก สนช.มีมติคว่ำ สนช.ยกชุดไม่นาน หัวหน้าคสช.ใช้มาตรา 44 มีคำสั่งให้ 1 ในกกต.ชุดเดิมหยุดปฏิบัติหน้าที่

ก่อนที่ สนช. มีมติเลือก กกต. 7 คนใหม่ แต่เห็นชอบเพียง 5 คน ในจำนวนนี้มีคนเคยไม่เห็นชอบครั้งแรก 2 คนด้วย ต่อมาได้มีมติ เพิ่มเติมอีก 2 คน จึงเป็นอันว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่แต่งตั้งโดย หน.คสช เป็นผู้กำหนด ผู้จะเป็น กกต. ซึ่งมีความสำคัญในการจัดการเลือกตั้ง

ซึ่งในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ได้เกิดวิกฤติความไม่เชื่อมั่นการทำหน้าที่ของ กกต.โดยเฉพาะกับพรรคการเมืองที่เสนอหัวหน้าคสช. เป็นนายกรัฐมนตรีถูกตั้งคำถามอย่างมากว่า กกต.ทำงานอย่างไม่อิสระ และถูกมองจากสังคมว่ามีความลำเอียง แม้ได้ชื่อว่าเป็นองค์กรอิสระ แต่ความเป็นจริงในการจัดการเลือกตั้ง ยังใช้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้จัดการเกือบทั้งหมด

ในขณะที่นายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจสูงสุดในฝ่ายบริหารเจ้าหน้าที่รัฐ และมีตำแหน่งเป็นหัวหน้า คสช. อีกด้วยนั้น ได้มีพรรคการเมืองที่กำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักในขณะนี้ เสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองนั้น ได้รับการเลือกตั้งและเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล

ประเด็น “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” จะทำให้เกิดการปฎิบัติที่ตอบแทนบุญคุณผู้แต่งตั้งมากกว่าเรื่องความถูกต้อง หรือตอบแทนประโยชน์ส่วนบุคคลมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม และในเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ต้องเป็นข้อห้ามที่เป็นหลักการสากล ที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย

บุคคลในกระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระจะต้องมีกลไกในการป้องกันขจัดการทุจริต ประพฤติมิชอบ ที่สำคัญคือ ต้องมีหลักเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในการปฎิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด

ที่มา Tawee Sodsong – พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน